Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/07/2557 ]
ห่วงประชากรเด็กอ้วน
มนต์ทิพย์ ธานะสุข hilight@matichon.co.th
          หากแนวโน้มยังคงเป็นเฉกเช่นปัจจุบัน อีกประมาณ 11 ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ.2568 โลกเราจะมีประชากรเด็กอ้วนเกิน มากถึง 70 ล้านคน!!
          เป็นคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ที่มีออกมาในรายงานสถานการณ์เด็กอ้วนทั่วโลกเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งรวบรวมข้อมูลและเปรียบเทียบให้เห็นว่า จำนวนทารกและเด็กที่อ้วนเกินหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไปทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านคน ในปี 2533 เป็น 44 ล้านคน ในปี 2555 โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ประชากรเด็กอ้วนเฉพาะในทวีปแอฟริกาเพียงภูมิภาคเดียวก็พุ่งพรวดขึ้นไปจาก 4 เป็น 10 ล้านคนแล้ว
          ปีเตอร์ เดวิด กลั๊คแมน ประธานร่วมคณะกรรมการยุติความอ้วนในวัยเด็ก ซึ่งเป็นคณะทำงานภายใต้ฮู บอกว่า เด็กที่อ้วนเมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมาได้มากมาย ตั้งแต่เบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ทำให้เราจะต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า เด็กที่อ้วนเกินเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวน้อย ดังนั้น การจะต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วนในคนอ้วนกลุ่มนี้จึงจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เฉพาะที่มีความต่างไปจากกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานที่มีปัญหาอ้วนเกินอย่างชัดเจน
          มีแนวทางหลักๆ อยู่ 2 แนวทางในการแก้ปัญหาความอ้วนในวัยเด็ก ซึ่งกลั๊คแมนบอกว่าจะต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน นั่นคือ การเริ่มดูแลกันตั้งแต่สุขภาพของคุณแม่ ผู้หญิง และเด็กผู้หญิงให้ดีก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะถึงวันตั้งครรภ์ การทำให้สภาพแวดล้อมของการตั้งครรภ์มีความเหมาะสม ส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และคอยดูเรื่องพฤติกรรมการหย่านมของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องตรงนี้โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ขณะเดียวกันก็จะต้องดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการทำให้อ้วนได้ง่ายให้ดีๆ และมีความมั่นใจว่ามีหลายสิ่งอย่างที่เราทำได้เพื่อให้มีการรับประทานอาหารที่ดีเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและมีการดูแลควบคุมอาหารในหมู่วัยรุ่น
          รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า เมื่อก่อนโรคติดเชื้อหรือโรคที่ติดต่อกันได้ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นสิ่งคุกคามสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา แต่ตอนนี้โรคที่ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย เช่น โรคหัวใจ เส้นเลือดหล่อเลี้ยงสมองตีบ เบาหวาน และโรคมะเร็ง กำลังผุดออกมาเป็นภัยท้าทายสำคัญ โดยโรคเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องมาจาก 4 ตัวแปรเสี่ยงซึ่งเป็นผลมาจากวิถีการใช้ชีวิตของตัวเราเอง คือ  การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายน้อยเกินไป การทำร้ายตัวเองด้วยสุราและการสูบบุหรี่ ตัวแปรทั้งหมดนี้ล้วนก่อวิกฤตโรคอ้วนมากขึ้น
          สำหรับสถานการณ์โรคอ้วนที่เป็นปัญหาค่อนข้างหนักในขณะนี้อยู่ในแถบหมู่เกาะแปซิฟิก ทะเลแคริบเบียน และตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในแถบซับ-ซาฮาราของทวีปแอฟริกา อย่าง ไนจีเรียและกานา ทั้งๆ ที่ในภูมิภาคเหล่านี้ในหลายพื้นที่ทางหนึ่งก็เผชิญกับภาวะอดอยากขาดแคลนหนัก แต่ในอีกทางหนึ่งก็เผชิญกับปัญหาโรคอ้วนที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์การรับมือในแต่ละบริบทของปัญหานั้นๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
          แต่ถ้าเอาง่ายๆ เริ่มจากตัวเราเองก่อน เพียงแค่ตระหนักให้ได้ว่า "กินอย่างไร เป็นอย่างนั้น" แล้วลงมือทำในสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ก็น่าจะช่วยผ่อนเบาปัญหาข้างต้นได้
 pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved