Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/07/2557 ]
ต้อกระจก ปัญหาท้าทายจารีตระบบสาธารณสุขไทย
 ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย
          ประธานมูลนิธิศุภมิตรร่วมใจ
          ภัยคุกคามสุขภาพของคนไทยวันนี้คือ โรคตาต้อกระจก ที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัยจำนวนมากมายทั่วประเทศ โรคนี้ก่อให้เกิดปัญหาสายตาเลือนราง หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจถึงขั้นตาบอด
          ไม่ใช่เรื่องเล่น เพราะต้อกระจกเป็นสาเหตุของตาบอดถึง 47%!!!
          ใครที่มีญาติผู้ใหญ่สูงอายุ คงเข้าใจดีว่าต้อกระจกเป็นโรคที่ทำให้สายตาพิการ เพราะมองไม่ชัด ไม่เห็นเหมือนเดิม เคลื่อนไหวหรือช่วยตัวเองได้น้อยลง หรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อาจเครียด รู้สึกกดดัน ซึมเศร้า สูญเสียคุณภาพชีวิต และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตมากขึ้น
          มีรายงานด้านจักษุสาธารณสุขที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2550 คาดว่าไทยเรามีผู้ป่วยต้อกระจกทุกระดับสายตากว่า 5.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นต้อกระจกชนิดบอดที่ตกค้างราว 9.8 หมื่นคน
          รายงานนี้ย้ำว่า โครงการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อการป้องกันตาบอด ช่วยให้ลดความชุกของตาบอดลงได้ถึงร้อยละ 50 ในประเทศสหรัฐและออสเตรเลียยังเคยศึกษาไว้ว่าการลงทุนผ่าตัดต้อกระจกสามารถให้ผลตอบแทน คือประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 6 เท่า
          ไทยเราเอง ก่อนปี 2522 เคยผ่าตัดได้เพียงไม่ถึง 4,000 ตาต่อปี ต่อมาเมื่อมีบุคลากรเพิ่มขึ้นจึงสามารถผ่าตัดได้ราว 32,000 ตาในปี 2530 แล้วทวีจำนวนขึ้นเป็น 63,000 ตาในปี 2538
          โชคดีของคนไทยที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงจัดโครงการผ่าตัดต้อกระจกโดยเปิดให้หน่วยบริการรับส่งต่อทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชนซึ่งมีขีดความสามารถบริหารจัดการช่วยกันรณรงค์ผ่าตัดต้อกระจกโดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่าย
          ช่วยให้การผ่าตัดในปัจจุบันสามารถ ทำได้ถึงกว่า 1 แสนตาต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ก็ยังคงมีอยู่ ตามวัยซึ่งเกือบจะเท่ากับที่มีการให้บริการ ต่อปี
          นั่นหมายถึง ยังคงมีผู้ป่วยตาต้อกระจกอยู่อีกจำนวนมากมายที่รอรับการรักษาต่อไปอีกหลายต่อหลายปี
          แน่นอน ในจำนวนนี้ย่อมมีผู้ป่วยในระดับสายตาที่ใกล้จะบอดจำนวนไม่น้อย หากการรอคอยเนิ่นนานออกไป บอกได้ว่าทุกวันเดือนปีของการรอคอยคือการสูญเสีย ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตก่อนได้รับการผ่าตัดต้อกระจกกลไกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเยียวยาอย่างทันท่วงที คือ โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศต้องช่วยกันคัดกรองผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาทันกับความรุนแรง บางแห่งก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสาธารณกุศล และองค์กรปกครองท้องถิ่น แล้วส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการรับส่งต่อที่สะดวกที่สุด
          หน่วยบริการรับส่งต่อ ซึ่งก็มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผู้รับสัญญาจาก สปสช.ให้เข้าร่วมโครงการ ก็จะต้องให้บริการตามเงื่อนไขเข้มงวดที่ สปสช.วางไว้และติดตามตรวจสอบทุกระยะ เน้นประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยสูงสุดเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรักษาที่ไหน แต่ สปสช.ใช้งบประมาณเท่ากัน
          น่าเสียดายที่กลไกนี้บางส่วนยังคงติดยึดกับจารีตเดิมๆ ในกระทรวงสาธารณสุข โดยยังคงมีผู้บริหารจำนวนหนึ่งคิดว่าควรส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ทั้งที่ผู้ป่วยจะต้องไปแออัดรอคิวนานเกิน 3 เดือน ในขณะที่มีสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
          คุณลุงคุณป้าซึ่งเป็นผู้ป่วยต้อกระจกที่อยู่ในอำเภอที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนเข้าใจปัญหา ก็จะได้รับการส่งต่อไปรักษาอย่างรวดเร็วทันกับความรุนแรงของโรค แต่ถ้า ผอ.โรงพยาบาลส่งต่อไปรอคิวที่โรงพยาบาลของรัฐ ผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรกับตนเองหากต้องยืดการนัดหมายเพราะคิวยาว
          กลไกกระทรวงสาธารณสุขยังคงติดกับจารีตซึ่งมีมานาน แก้ปัญหาของชาติและประชาชนไม่ทัน จนต้องมีการจัดตั้ง สปสช.ขึ้นมาดำเนินการยุทธศาสตร์สุขภาพให้ประชาชนอย่างเป็นอิสระและเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนมาแล้ว
          ไม่แปลกที่จะยืนยันว่า ปัญหาต้อกระจกจึงเป็นปัญหาท้าทายจารีตระบบสาธารณสุขไทยที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง และกระทรวงสาธารณสุขต้องให้คำตอบต่อสังคมโดยด่วน!!!
 pageview  1205094    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved