Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/07/2557 ]
เตือนโรคฉี่หนูตายแล้ว7ราย
 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ฤดูฝนทุกปีมีหลายโรคที่มีแนวโน้มพบมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู แม้ว่ามียารักษาหาย แต่อาจทำให้เสียชีวิตได้หากได้รับการดูแลรักษาไม่ถูกต้องหรือล่าช้า ทั้งนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557-14 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 861 ราย ใน 61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 7 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงงาน 25-54 ปี เป็นชายมากกว่าหญิงถึง 5 เท่าตัว กว่าครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม จังหวัดที่มีอัตราป่วยมากที่สุด ได้แก่ สตูล ระนอง และยะลา
          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้ฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อแล้ว ยังพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ แมว แพะ แกะ ก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน โดยเชื้อโรคฉี่หนู สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปก็ได้ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมองและระบบประสาท อาจถึงตาย
 pageview  1204381    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved