Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/03/2555 ]
สหรัฐเขย่าโลก สัตว์ฟันแทะติดเชื้อหวัดนกH5N1

ช่วงนี้มองไปทางไหนมีแต่คนป่วยด้วยอาการไข้หวัด เหตุเพราะสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวจากภายนอก ขณะที่ต้องทำงานในห้องแอร์เย็นๆ ย่อมทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับสภาพได้รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนเป็นเหตุปัจจัย
          ทั้งสิ้น แต่ที่น่าหวาดหวั่น ณ ขณะนี้ ไม่ใช่แค่โรคไข้หวัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนกเนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด
          ยิ่งช่วงที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกามีการทดลองนำเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 ไปเพาะในสัตว์ฟันแทะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคน พบว่าสัตว์ฟันแทะติดเชื้อ H5N1 ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.เกียรติคุณนพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข มีความกังวลว่าหากนักวิจัยไม่มีการ
          ควบคุมห้องทดลองที่มีประสิทธิภาพ ก็อาจเสี่ยงเล็ดลอดออกมาข้างนอกได้ แต่ใช่ว่าจะต้องตื่นตระหนก เนื่องจากจนบัดนี้ยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกอีก โดยสถานการณ์ล่าสุดในไทยพบระหว่างปี 2547-2549 มีผู้ป่วย 25 คน เสียชีวิต17 คน กระทั่งปัจจุบันยังไม่พบ อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขผู้ป่วยในไทยจะไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกเพิ่ม แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามกัมพูชา ก็มีเกิดขึ้นประปราย ส่วนอินเดีย เนปาลก็ยังมีระบาดเช่นกัน ดังนั้น การเฝ้าระวังจึงยังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง
          ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าหากพูดถึงโรคไข้หวัดนก ต้องพูดถึงไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดทั่วไปด้วย เนื่องจากมีโอกาสเกี่ยวพันกันหมด อย่างกรณีการได้รับเชื้อของสัตว์ฟันแทะ หากมีโอกาสหลุดออกสู่ภายนอกจริงก็อาจไปติดสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ธรรมดา และหากสัตว์ตัวนั้นไปกัดคนก็มีโอกาสกลายเป็นเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ได้ทั้งหมดจึงต้องระวัง แต่ทั้งนี้ งานวิจัยในสหรัฐเป็นการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ เชื่อว่าน่าจะมีระบบการป้องกันที่ดี และไม่สามารถหลุดออกมาได้
          จริงๆ แล้วกรณีการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน หรือจากคนไปสัตว์เกิดขึ้นได้ อย่างกรณีสุนัขรับเชื้อไข้หวัดใหญ่จากคน และไปติดเชื้อกันเองในกลุ่มสุนัขซึ่งมีเชื้อหวัดสุนัขอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยแพร่มาสู่คน กลายเป็นเชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่อีก อย่างไรก็ตาม กรณีการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนจึงเป็นเรื่องที่ทางการแพทย์มีการติดตามและเฝ้าระวังมาโดยตลอด ยิ่งปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คนนิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงธรรมดายังมีสัตว์ประหลาดๆ จากต่างประเทศ พวกนี้หากดูแลไม่ดีย่อมมีโอกาสติดเชื้อที่เราไม่รู้จักก็ได้
          ที่ผ่านมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ได้ร่วมกับ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี และ ศ.ดร.เฮนรี่ ไวลด์(Henry Wild) นักวิชาการประจำศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโรคไวรัสสัตว์สู่คน ศึกษาโอกาสการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยได้ศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการไข้สมองอักเสบ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 85 ราย เมื่อปี 2554 ซึ่งได้รับงบประมาณจากองค์กรโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อ DARPA
          เพื่อศึกษาว่าในกลุ่มผู้ป่วยไข้สมองอักเสบมีการติดเชื้อที่มาจากสัตว์หรือไม่ เนื่องจากการวินิจฉัยพบสาเหตุของการติดเชื้อเพียงร้อยละ 40 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มไวรัสดีเอ็นเอ ตระกูลเฮอร์ปีส์ (Herpes) รองลงมา เป็นไวรัสตระกูลสมองอักเสบเจอี (JE: Japanese encephalitis
          virus) และไวรัสที่มีในตระกูลเด็งกี่ ซึ่งที่ผ่านมามักเชื่อว่าไวรัสชนิดนี้จะก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วยังก่อโรคไข้สมองอักเสบด้วย ซึ่งในส่วนนี้พบเพียง 2-3 รายจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าอีกร้อยละ 20 มาจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกัน
          ปัญหาคืออีกร้อยละ 40 ไม่ทราบว่าติดเชื้อจากสาเหตุใด กลุ่มวิจัยสันนิษฐานว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาจากสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโดยใช้เทคนิคต่างๆ ทั้งการ
          หาสารพันธุกรรมในระดับครอบครัว คือ หาเชื้อแบบองค์รวม ทั้งในสารพันธุกรรมในสัตว์ที่สงสัย รวมทั้งคน และการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าNext-Generation Sequencing ซึ่งเป็นการหาในระดับเชิงลึก มีราคาแพงมาก โดยตัวอย่างละ50,000 บาท กรณีนี้ต้องใช้หาตัวไวรัสหรือหาเชื้อที่ไม่คาดคิดจริงๆ
          อย่างไรก็ตาม ที่กำลังศึกษาและเป็นวิธีที่ดีไม่แพ้วิธีอื่นๆ คือ การใช้เทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในกลุ่มดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ (DNARNA) ก่อนการตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) ซึ่งเป็นเทคนิคสำหรับเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ แต่เมื่อมีการใช้เทคนิคการปริมาณสารพันธุกรรมในกลุ่มดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอก่อนอีก จะยิ่งทำให้การตรวจหาการค้นพบเชื้อใหม่ๆ มีโอกาสมากขึ้น ซึ่งราคาในการตรวจแต่ละครั้งไม่แพงมากประมาณหลักพันบาท ที่สำคัญสามารถตรวจหาเชื้อได้ทั้งในคนและสัตว์ชนิดต่างๆ
          โดยการศึกษาครั้งนี้มีระยะเวลา 2 ปี ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 6 เดือน ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม
 

 pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved