Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/03/2557 ]
โรคอันตราย4ภัยร้อน
ส.ธ.เตือนภัยอากาศร้อนเสี่ยงป่วยตายจากโรคลมแดด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ต้องระวังเป็นพิเศษ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อุณหภูมิของประเทศไทยนับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย เพราะอาการร้อนจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงมากจนมีผลกระทบต่อระบบประสาท จะทำให้มีการเสียชีวิตจากอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว โรคที่เกิดจากอากาศร้อนที่พบบ่อยมี 4 โรค ได้แก่ โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) และผิวหนังไหม้แดด (Sanburm)
          "โรคที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต คือโรคลมแดด แม้จะพบได้ไม่บ่อยในประเทศไทย แต่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความเสียงสูง เกิดได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัด หรืออยู่ในที่ที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งให้คำแนะนำความรู้ในการดูแลและป้องกันโรคลมแดดแก่ประชาชน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มพิเศษที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง"
          นอกจากนี้ ยังพบได้ในผู้ที่ติดเหล้า นักกีฬา คนงาน เกษตรกร หรือทหาร ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน มีรายงานข้อมูลประเทศไทยในปี 2551 พบผู้ป่วยโรคลมแดด 80 ราย เสียชีวิต 4 ราย และในปี 2552 พบผู้ป่วยโรคลมแดดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 32 ราย 
          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการจากโรคลมแดดได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนอ้วน โดยเด็กเล็กจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ทำให้การปรับตัวของร่างกายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ และที่สำคัญเด็กเล็กไม่สามารถดูแล
          ตนเองได้ในกลุ่มผู้สูงอายุมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน กว่าครึ่งจะมีโรคประจำที่สำคัญคือ ระบบหลอดเลือดจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งสภาพอากาศของไทยที่ร้อนชื้นทำให้ระบายความร้อนทางผิวหนังได้น้อย ความร้อนจะสะสมในร่างกายมากขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ถ้าไม่แก้ไขจะทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสียไปจนล้มเหลวและเสียชีวิตได้
          ส่วนในกลุ่มของคนอ้วนซึ่งขณะนี้มีประมาณ 13 ล้านคน จะมีปัญหาเรื่องการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก เนื่องจากมีชั้นไขมันปิดกั้น ยิ่งอ้วนมากยิ่งเสี่ยงสูง
          นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สัญญาณอาการของโรคลมแดดที่สังเกตได้ง่าย ได้แก่ ตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการทางสมอง เช่น เห็นภาพหลอน สับสน หงุดหงิด ชักหรือหมดสติ ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด เกิดลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด และช็อกได้ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากพบผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที รีบระบายความร้อนออกจากร่างกายให้ตัวเย็นลงโดยเร็ว เช่น การใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นเช็ดตัว แช่ตัวในน้ำ ฉีดพรมน้ำและส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชม.
          ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ แพทย์ประจำโรงพยาบาล พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ในการป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน ควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ไม่ทึบ และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่นน้ำมากกว่าปกติจากวันละ 1-2 ลิตร เพิ่มเป็นชั่วโมงละ 1 ลิตร เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้คงที่ และชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด 
          "ช่วงนี้อากาศร้อนคนจะกระหายน้ำบ่อย เหงื่อออกมาก เสียน้ำมาก หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านไปทำธุระเกิด 1-2 ชม. ขอให้ดื่มน้ำก่อนออกจากบ้านให้ได้ 2 แก้ว หรือประมาณครึ่งลิตร จะทำให้รู้สึกสบาย ร่างกายทนความร้อนได้นาน" นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว
 pageview  1204938    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved