Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/12/2556 ]
'เรดอน'ภัยเงียบในบ้าน
 กลายเป็นข่าวครึกโครม สร้างความตกใจให้กับผู้พักอาศัยในบ้านที่ก่อสร้างด้วยหิน ทราย โดยเฉพาะหินแกรนิต ไม่น้อย เมื่อ สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ที่สร้างบ้านเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่ หรือสร้างตึกสูง เลือกใช้วัสดุราคาแพง สวยงาม แข็งแรงคงทน หรูหรา เช่น คอนกรีต หินแกรนิต หินอ่อน กระเบื้องโมเสกต่างๆ เป็นผลเสียต่อสุขภาพ
          สมพรบอกว่า จากการเก็บข้อมูลวิจัยของ สทน. พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นกัมมันตภาพรังสีตามธรรมชาติออกมา ผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจทำให้เป็นมะเร็งได้
          แล้วเรดอนนี้เป็นอะไร?
          เรดอน (Radon) คือ ธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 86 และสัญลักษณ์คือ Rn เรดอนเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซเฉื่อย (radioactive noble gas) ได้จากการแยกสลายธาตุเรเดียม ในดิน, หิน และน้ำ เป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และมองไม่เห็น ดังนั้น จึงไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์
          ที่สำคัญเรดอนเป็นก๊าซที่หนักที่สุดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
          ก๊าซเรดอนสามารถเดินทางไปตามพื้นดินเข้าไปในอาคารและบ้านผ่านรอยแตกโครงสร้างฐานรากของบ้านหรืออาคาร สามารถแทรกซึมผ่านชั้นปูนขึ้นมาสู่ด้านบนได้ เมื่อเราสูดเข้าไป จะสะสมในปอด หายใจเข้าไปทุกวันๆ เป็นมะเร็งได้ ถือเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น
          พชิรารัฐ โสลา นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ สทน. ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ เล่าว่า องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง (International Agency of Research on Cancer : IARC) ได้ข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่า เรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์และสัตว์ เช่นเดียวกับการประชุมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกที่จัดโดย National Academic of Sciences, International Commission on Radiological Protection (ICRP) และ National Council on Radiation Protection and Measurement (NCRP) เนื่องจากเรดอนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสลายตัวของแร่เรเดียม มีปะปนอยู่ในดินและหินทั่วไปบนพื้นโลก
          ในบรรยากาศทั่วไปมีก๊าซเรดอนปะปนอยู่ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเรเดียมและยูเรเนียมในบริเวณดังกล่าว
          ดังนั้น เมื่อมนุษย์นำดิน หิน หรือทรายที่มีแร่เรเดียมเจือปนมาก่อสร้างอาคาร วัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมาตามปริมาณเรเดียมที่ปะปนอยู่ หากอาคารเหล่านั้นไม่มีระบบระบายอากาศที่ดีก็จะเป็นแหล่งสะสมของก๊าซเรดอนในปริมาณที่สูง จนอาจเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันอาคารในประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามรูปแบบที่ลอกเลียนมาจากต่างประเทศ
          ในอีกแง่มุมหนึ่งจากการรวบรวมแบบสอบถามการรับบริการของสถาบัน พบว่า ลูกค้าจำนวนมากต้องการทราบว่า การปล่อยก๊าซเรดอนจากวัสดุก่อสร้างที่ตรวจวัดได้ หากนำไปสร้างบ้านแล้ว ผู้อยู่อาศัยจะได้รับรังสีปริมาณเท่าไรต่อปี และเกินเกณฑ์ปลอดภัยหรือไม่
          งานวิจัยนี้จึงพัฒนาเครื่องวัดเรดอนที่มีความไวสูง เหมาะกับการวัดรังสีในบ้านเรือนและวัสดุก่อสร้าง
          ผลจากการพัฒนาเครื่องวัดนี้ทำให้ได้เครื่องวัดเรดอนที่มาจากการพัฒนาภายในประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถสร้างขายหรือใช้ในงานวิจัยได้ และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนหรือบริษัทรับก่อสร้างอาคารในการเลือกวัสดุก่อสร้างในอนาคตด้วย
          มนุษย์ได้รับรังสีในธรรมชาติโดยเป็นผลจากก๊าซเรดอนในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 เป็นการได้รับรังสีในร่างกายเนื่องจากการหายใจเอาเรดอนและลูกหลานของมันเข้าไป
          ปัจจุบันองค์การผู้ชำนาญการระหว่างประเทศ มีการทบทวนระดับความเข้มข้นก๊าซเรดอนที่ยอมรับได้ในระดับที่ต่ำลง อันเป็นการตระหนักถึงพิษภัยของก๊าซเรดอนเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทยได้มีการตระหนักถึงพิษภัยของก๊าซเรดอนเช่นกัน
          ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และหลายหน่วยงานในประเทศไทย ได้ศึกษาวิจัยตรวจวัดก๊าซเรดอนในวัสดุก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแง่ของการประเมินความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน
          อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ใช้วัดก๊าซเรดอนนั้นมีราคาแพง นักวิจัยไทยจึงได้พัฒนาหัววัดก๊าซเรดอนแบบลูคัสเซลล์ขึ้นจนมีประสิทธิภาพสูง ขณะที่ต้นทุนต่ำ
          สำหรับก๊าซเรดอนที่ตรวจวัดส่วนใหญ่จะพบในบ้านหรือบริเวณห้องที่ไม่มีอากาศถ่ายเท โดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่ เจ้าของบ้านบอกว่า ไม่มีเวลาเปิดหน้าต่าง เพราะหน้าต่างเยอะมาก ทำให้อากาศไม่มีการถ่ายเท พบก๊าซเรดอนในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก หรือตึกใหญ่ๆ ที่ปูพื้นด้วยหินแกรนิต หรือฝาผนังทำจากทรายที่ออกมาจากแหล่งแร่ ที่มีปริมาณเรดอนสูง และตัวตึกมีแต่เครื่องปรับอากาศไม่มีการเปิดหน้าต่างระบายอากาศเลย กรณีแบบนี้ก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน
          ย้อนกลับมาที่สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. อีกครั้ง เพื่อถามย้ำเรื่องก๊าซเรดอน
          สมพรบอกว่า การสูดดมก๊าซเรดอนจะไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ มีข้อมูลระบุว่าก๊าซเรดอนที่สะสมในบ้านเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและทำให้ผู้ป่วยในสหภาพยุโรปเสียชีวิตปีละ 20,000 ราย ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบว่า บ้าน 1 ในทุก 15 หลัง จะมีระดับก๊าซเรดอนสูง ทางองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศจัดให้ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2531 หรือ 25 ปี มาแล้ว
          สำหรับข้อแนะนำเบื้องต้นคือ หากบ้าน อาคาร หรือสถานที่ใด ที่มีการก่อสร้าง โดยใช้หินแกรนิต หรือสงสัยว่าพื้น ผนังบ้านตัวเองมีสารเรดอนปนเปื้อนอยู่ เพราะมีส่วนประกอบของหิน ดิน และทราย ควรจะถ่ายเทอากาศในบริเวณนั้น โดยเปิดหน้าต่างบ่อยๆ หรือใช้เครื่องดูดอากาศก็สามารถกำจัดก๊าซเรดอนออกไปได้เช่นกัน
          หรือถ้าใครไม่แน่ใจ อาจประสานงานให้ สทน.มาช่วยตรวจได้ ตอนนี้มีเครื่องมือตรวจ 15 เครื่อง
          พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่ประมาทหรือรู้จักหาทางป้องกัน ก็สามารถรับมือกับก๊าซเรดอนได้ไม่ยากนัก
          หน่วยวัดกัมมันตภาพรังสี
          กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หรือความแรงของต้นกำเนิดรังสี จะวัดออกมาในหน่วย เบคเคอเรล (becquerel) หรือ Bq
          1 Bq = การให้รังสีออกมา 1 ครั้งต่อวินาที หน่วยเก่าที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ คูรี (Curie) หรือ Ci 1 Ci = 37 GBq = 37000 MBq Becquerel (Bq) หรือ Curie (Ci) เป็นหน่วยวัดอัตราการคายรังสีออกมาจากต้นกำเนิดรังสี ไม่ใช่หน่วยวัดของพลังงาน
          ระดับอ้างอิงของเรดอน (The reference level of radon)
          องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ United States Environmental Protection Agency (US EPA) ได้กำหนดระดับอ้างอิงของเรดอนไว้ ดังนี้
          1.เรดอนภายในอาคารโดยเฉลี่ยไม่ควรเกิน 148 Bq.m-3 หรือ 4 pCi ต่อ 1 L (ลิตรของอากาศ) 2.ระดับเรดอนในน้ำดื่มไม่ควรเกิน 11 Bq/L 3.ระดับค่าเรดอนสูงสุดในน้ำไม่ควรเกิน 150,000 Bq/m-3 หรือ 150 Bq/L 4.ค่าเรดอนที่วัดได้จากวัสดุก่อสร้าง หรือในบ้าน หากคำนวณหาค่า Annual effective dose 1 mSv y-1 สำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำโดย The International Commission on Radiological Protection (ICRP)
 pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved