Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/10/2556 ]
เตรียมรับมือ 5 โรคหน้าหนาว

 

  เผลอไม่ทันไรก็ปลายปีอีกแล้ว ช่วงนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวจริงๆ จังๆ ซะที สำหรับช่วงฤดูหนาวอาจจะเป็นช่วงดีๆ สำหรับใครหลายๆ คน เพราะถือเป็นช่วงที่จะได้หยุดพักผ่อนะ ท่องเที่ยว ในบรรยากาศที่แสนสบาย โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือ แต่รู้มั้ย ในช่วงนี้ คุณต้องเตรียมรับมือกับโรคอะไรกันบ้าง
          ทุกๆ ปี เราคงได้เห็นประกาศเตือนจากทางการให้ระมัดระวังเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะ 5 โรคเหล่านี้ คุณต้องรับมือเพื่อตัวเองและคนที่คุณรักอย่างแน่นอน
          1) โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดได้ทุกเพศทุกวัย มักเกิดในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว ไข้หวัดจะมีอาการน้ำมูกไหล ไข้ไม่สูงมาก แม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี
          ส่วนไข้หวัดใหญ่ (Seasonal Influenza) จะมีอาการรุนแรงกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัวปวดกล้ามเนื้อมาก จะพบมากทุกอายุโดยเฉพาะในเด็กจะพบมากเป็นพิเศษ แต่อัตราการเสียชีวิตมักจะพบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีน ป้องกัน ไข้หวัดใหญ่เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด สำหรับคนที่เป็น ไข้หวัดใหญ่หากมีอาการไข้สูงและเป็นมานาน หายใจลำบาก หอบ เจ็บหรือแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม อาเจียน รวมทั้งผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคไต โรคปอด คนท้อง คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย โรคเอดส์ ผู้ที่พักในสถานเลี้ยงคนชราควรไปหาหมอ
          2) โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เกิดได้จากการ ติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา หรืออาจเกิดจากได้รับสารเคมี ยาบางอย่าง โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคปอดบวมอาจเป็นโรคที่เกิดแทรกซ้อนตามหลังไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอื่นๆ เช่น หัด ก็ได้ อาการที่สำคัญ คือ ไอ เหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจลำบาก
          ในเด็กเล็กๆ และในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ เพราะร่างกายมีความบกพร่องในการป้องกันและกำจัด เชื้อโรค นอกจากนี้ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และ/หรือรับประทานยาบางชนิด การมีโรคประจำตัวบางอย่าง การไม่รักษาสุขภาพและอนามัย เช่น การขาดอาหาร สุขภาพทรุดโทรม อยู่อาศัยในสถานที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีพอ ในที่ที่มีมลภาวะที่ต้องหายใจและสูดมลภาวะเข้าไปในปอด ก็มีความเสี่ยงต่อโรคนี้เช่นเดียวกัน
          3) โรคหัดะ หัดเยอรมัน โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้ โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการไอ จาม หรือพูดกันในระยะ ใกล้ชิด เข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (Air borne) เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย การป้องกันให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และวิธีที่ดีที่สุดคือให้วัคซีนป้องกัน
          ส่วนโรคหัดเยอรมัน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ ทำงาน เชื้ออยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที ใช้เวลาประมาณ 14 ถึง 21 วันจึงเริ่มเกิดอาการ อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากมักไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง อย่างไรก็ตามคนที่ตั้งครรภ์หากติดเชื้อในช่วงอายุครรภ์ 3 ถึง 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เด็กที่เกิดมาพิการ เช่น สมองฝ่อ หูหนวก ต้อกระจกตา โรคหัวใจ คนที่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต การป้องกันเด็กเล็กสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัคซีนรวม 3 โรค คือวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) วัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคคางทูม โรคหัด และโรคหัดเยอรมันได้ภายในเข็มเดียวกัน สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมันก็สามารถฉีดวัคซีนดังกล่าวได้
          4) โรคสุกใส หรือโรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา เชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด เมื่อได้รับเชื้อ 10 20 วัน จะมีอาการคือเป็นผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง และมีไข้ โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือ สัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าทาง เยื่อเมือก
          สำหรับเด็กที่เป็นจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็ก โดยทั่วไปผื่นหายได้โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้วมักจะมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจจะออกมาเป็นงูสวัดในภายหลังได้ โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรง โดยปกติแล้วจะเป็นเองหายเอง อย่างไรก็ตามอาจจะมีข้อยกเว้นบ้างโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะมีอาการรุนแรงกว่า เช่น เป็นไข้หรือมีอาการทางผิวหนัง มีอาการคันรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อไวรัส ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้จำพวกแอสไพริน เพราะอาจจะทำให้มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมาได้
          5) โรคมือเท้าปาก เป็นโรคระบาดโรคหนึ่งที่ติดต่อจากคนสู่คน มักพบในกลุ่มทารกและเด็กเล็ก ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน อย่างไรก็ตามระยะหลังๆ จะพบการระบาดในช่วงหน้าหนาวด้วย อาการของโรค จะเริ่มมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหารหรืออาจจะกินอาหารหรือน้ำไม่ได้ อ่อนเพลีย มีอาการน้ำลายไหล หลังจากมีไข้ 1-2 วันจะเริ่มมีแผลในปาก และเริ่มมีผื่นขึ้นที่บริเวณ มือ เท้าและก้น บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ซึม แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะมาก มือสั่น หอบ อาเจียนบ่อย
          สำหรับการป้องกันควรเริ่มจากการเลี่ยงสัมผัสเสมหะ ไอ จาม จากคนที่เป็น หากมีคนป่วย ควรแยกเพื่อไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น นอกจากนี้ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหารและหลังขับถ่าย ทุกครั้ง หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก ร่วมกับการรักษาความสะอาดทั่วๆ ไป การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนม ร่วมกับผู้อื่น และไม่ควรพา เด็กเล็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้าและตลาด ก็เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใส่ใจ หากพบผู้มีอาการสงสัย แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพราะถ้าปล่อยไว้ และติดเชื้อ Enterovirus 71 จะทำให้มีอาการที่รุนแรง โดยเฉพาะอาการทางระบบสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบ และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
 
 pageview  1205456    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved