Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/10/2556 ]
'นักวิจัย-น.ศ.'ม.มหิดลผุด'เครื่องช่วยขยับข้อเท้า'

 

 "ภาวะข้อเท้าตก" เป็นอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระดกข้อเท้า ขึ้น จากความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถสั่งการให้กระดกข้อเท้าขึ้นตามต้องการได้ เกิดได้ทั้งจากความผิดปกติของทั้งระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนปลาย ทำให้เกิดภาวะข้อเท้าตกตามมา
          ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ถูกวิธี อาทิ การช่วยขยับข้อเท้า และการออกกำลังกายที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะข้อเท้าติด และภาวะกล้ามเนื้อหดรั้ง
          ปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้ความสนใจใช้ "เครื่องช่วยขยับข้อเท้าแบบต่อเนื่อง" (Continuous passive movement) ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเท้าตกมากขึ้น จึงมีนักวิจัยสนใจประดิษฐ์เครื่องช่วยขยับข้อเท้าเพื่อช่วยในการขยับข้อเท้าในหลากหลายรูปแบบ เพื่อลดภาระของผู้ดูแลในการช่วยขยับข้อเท้าแก่ผู้ป่วย
          น.ส.นิดา วงศ์สวัสดิ์ นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก นายกิตติชัย ทราวดีพิมุข นายสิทธิชัย เอี่ยมเพช็ร และ น.ส.ลัฐิกา เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ นักศึกษาภาค วิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรม ศาสตร์ ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้าสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตก ผลงานสิทธิบัตรทุนสนับสนุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)
          จึงคิดประดิษฐ์ เครื่องช่วยขยับข้อเท้าแบบต่อเนื่อง ขึ้นเพื่อการฟื้นฟู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนภายหลังจากมีภาวะข้อเท้าตก
          น.ส.นิดาเล่าว่า เครื่องนี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักการ Passive movement ซึ่งอุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้านี้ใช้ข้อเท้าข้างที่แข็งแรงเป็นตัวช่วยขยับข้อเท้าข้างที่อ่อนแรง ทำให้ผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตก ช่วยขยับข้อเท้าด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยขยับข้อเท้าให้ โดยออกแบบให้ใช้ได้ง่าย สามารถนำอุปกรณ์ไปช่วยขยับข้อเท้าที่บ้านได้ เพื่อการฟื้นฟูและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ถูกต้อง ซึ่งทำได้ทุกวัน
          อุปกรณ์นี้ ปรับมุมการเคลื่อนไหวได้ตามความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตกจริงในทุกๆ 1 องศา ใช้ได้ทั้งในท่านั่งและท่านอน ในทุกสภาพแวดล้อม โดยเลือกการตอบสนองกลับในกรณีที่ช่วยขยับข้อเท้าถึงมุมที่กำหนดได้ 2 รูปแบบ ทั้งเสียง และแสง
          นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อกับเกมคอมพิวเตอร์ Virtual-Reality ซึ่งเป็นเกมเสมือนจริง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้า และควบคุมเรื่องความเร็วในการช่วยขยับข้อเท้าได้ โดยได้ทดลองใช้กับผู้ป่วยที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มม.พบว่าได้ผลดี หลังจากใช้อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้า ผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อข้อเท้าหดเกร็งลดลงตามลำดับ
          อุปกรณ์นี้ จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ป่วยยังติดตั้งใช้เองที่บ้าน ฟื้นฟูกล้ามเนื้อข้อเท้าให้มีอาการหดเกร็งลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
 pageview  1205133    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved