Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/08/2556 ]
เรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ เรื่องน่าอายของสังคมไทย?

 ถ้าให้กระจกทุกคน คนละหนึ่งอัน เพื่อส่องและวิเคราะห์หน้าตาอวัยวะเพศของตัวเอง จะมีสักกี่คนที่ลงมือทำด้วยอาการกระดาก ขัดเขินเหมือนไม่อยากทำ และจะมีกี่คนที่ไม่ยอมทำ
          คำถามข้างต้นยังสะท้อนว่า "เรื่องเพศ" เป็นเรื่องน่า(ละ)อายในสังคมไทย
          มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพ ผู้หญิง (สคส.) และ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดการประชุมระดับชาติ เพศวิถีครั้งที่ 4 เรื่อง สาธารณะ รัฐ เซ็กส์ (Public, States, Sexuality) โดยหัวข้อ "สังคมไทยกับความ 'เกลียดกลัว' เรื่องเพศ" เป็นการตอบคำถามว่าสังคมไทย "เกลียดกลัว" เรื่องเพศจริงไหม
          คำถามง่ายๆ ที่หลายคนไม่อยากตอบ
          เริ่มต้นที่ ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา เปิดประเด็นว่า สังคมไทยยังมีความเกลียดกลัวเรื่องเพศอย่างไร้เหตุผล เป็นสังคมที่สนับสนุนให้มีเพศสัมพันธ์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความหฤหรรษ์ในชีวิต!
          การพูดเรื่องเพศ เรื่องเซ็กซ์ในที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องต้องห้าม หลายคนไม่กล้าพูดไม่กล้ามองอวัยวะเพศของตัวเอง โดยเฉพาะ ผู้หญิงที่ถูกสอนให้รักนวลสงวนตัวและตอกย้ำถึงความน่าอายในเรื่องเพศ มากกว่าผู้ชาย ปัญหาที่ตามมาคือ เวลามีปัญหาความผิดปกติหรืออาการป่วยของอวัยวะเพศ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ แล้วไม่กล้าไปหาหมอ
          เพราะ "อาย" ทำให้อาการของโรคร้ายแรงกว่าที่ควร
          "แม้สังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่หลายครั้งหลายเรื่อง ผู้หญิงมักถูกกันออกมา
          "ในเรื่องเพศ ผู้หญิงมักถูกมองเป็นสิ่งยั่วยุทางเพศ เป็นศัตรูของพรหมจรรย์ผู้ชาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีของภิกษุสงฆ์ ที่ห้ามอยู่ใกล้ผู้หญิงเพราะต้องถือพรหมจรรย์และมีศีลบริสุทธิ์" ผศ.ดร.สุชาดาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าติดตาม
          สำหรับคนที่มองไม่ออก ว่าในสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่นั้น "เกลียด-กลัว" เรื่องเพศหรือไม่ ลองฟัง รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล กรรมการบริหารสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อาจทำให้เข้าใจมากขึ้น
          "สังคมไทยยังมองเรื่องเพศเป็นเรื่องบัดสี สกปรก ทำให้การพูดคุยและการแสดงออกเรื่องเพศเป็นเรื่องผิดปกติและถูกปิดกั้นไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
          "สังคมสอนให้เราเกลียดกลัวรูปโป๊ รูปภาพการร่วมเพศ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ กรณีการเปลือยอกในเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนสีลมเมื่อหลายปีก่อน สังคมมองเป็นเรื่องอนาจาร ไม่เหมาะสม และกรณีเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมที่นำภาพนางฟ้าเปลือยอกเล่นสงกรานต์มาขึ้นหน้าเว็บไซต์ ก็ถูกสังคมถามหาความเหมาะสมจนต้องนำภาพดังกล่าวออก
          "ถามว่า หน้าอกผู้หญิงมีความผิดปกติหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ทั้งที่หลายร้อยหลายพันปีก่อน การไม่สวมเสื้อเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยด้วยซ้ำ นางรำหรือนางในวรรณคดีสมัยโบราณสวมเพียงเครื่องประดับและอวดปทุมทั้งสองข้าง สิ่งเหล่านี้คือกระแสสังคมที่ตอกย้ำความเกลียดกลัวเรื่องเพศในสังคมไทย" รศ.ดร.กฤตยาอธิบายอย่างออกรสกรรมการบริหารสถาบันวิจัยประชากรฯ ตั้งข้อสังเกตเรื่องความเกลียดกลัวเรื่องเพศในสังคมไทยอีกว่า ความเกลียดกลัวที่มีรากฝังลึก เริ่มตั้งแต่การเกลียดกลัวและอายตัวเอง ไม่กล้าดูหรือวิเคราะห์อวัยวะเพศของตัวเองเพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย จนเกิดความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับอวัยวะเพศของตัวเอง เช่น ต้องมีสีชมพู รูปร่างสวยงาม และไม่มีกลิ่น ฯลฯ รวมถึงการเกลียดกลัวเรื่องเซ็กซ์ (เพศสัมพันธ์) ทั้งเซ็กซ์กับเพศเดียวกันและเซ็กซ์นอกการแต่งงาน ที่หลายคนมองเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและผิดศีลธรรม ทั้งยังเน้นมีเซ็กซ์เพื่อสืบพันธุ์ ไม่ใช่เพื่อหาความสุข ความพึงพอใจในชีวิต
          "นอกจากนี้ การมีความสัมพันธ์ทางเพศในเครือญาติยังถูกมองเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งที่ก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ ไม่มีข้อกำหนดตรงนี้ เช่นในอดีต ชนชั้นผู้นำส่วนใหญ่มักแต่งงานและมีเพศสัมพันธ์ในเครือญาติ กระทั่งพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ก็อภิเษกกับพระขนิษฐา หรือน้องสาวด้วยซ้ำ" รศ.ดร.กฤตยาบอก
          เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนว่าสังคมไทยเกลียดกลัวเรื่องเพศอย่างมาก
          ไม่แม้แต่ไทยที่เกลียดกลัวเรื่องเพศ ต่างชาติเองก็ไม่เบา รศ.ดร.กฤตยาเล่าว่า ในต่างประเทศมีหนังสือเล่มหนึ่งทำเรื่องอวัยวะเพศหญิง หน้าปกเป็นภาพของจุดซ่อนเร้นของหญิงหลายคนมาเรียงๆ กัน ปรากฏว่าหนังสือไม่ผ่านเพราะถูกมองว่าไม่เหมาะสม เจ้าของหนังสือจึงใช้แถบดำมาคาด ปิดจุดซ่อนเร้นทั้งหมด หนังสือเล่มนั้นก็ยังไม่ผ่านเพราะยังเห็นขนอยู่ ทั้งที่หากมองจริงๆ แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากแถบดำ
          "เป็นข้อสรุปที่ทำให้เห็นว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ มักมีความกลัวเข้ามาเกี่ยวเสมอ ทั้งกลัวไม่เหมาะสม กลัวไม่ถูกต้อง กลัวผิดศีลธรรม รวมถึงการบอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศเป็นเรื่องน่าเกลียด เรื่องบัดสี ซึ่งสังคมเป็นผู้กำหนด" รศ.ดร.กฤตยาทิ้งท้าย
          ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะทบทวนเรื่องเพศกันใหม่เสียที

 pageview  1205703    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved