Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/06/2556 ]
เขย่าช็อกบอลมาแรง แต่แฝงไปด้วยอันตราย

 มั่นใจว่าทุกคนในโลกออนไลน์ไม่มีใครไม่รู้จัก กระแสเขย่าโลกอะลา มาร์ช 5,000 ครั้ง แล้วกลายเป็นช็อกบอล แม้จะฮิตมาได้สักระยะ แต่ของก็ยังไม่ขาดตลาด เพราะยังมีคนอีกมากอยากท้าพิสูจน์ บ้างก็ซื้อมาเขย่าเอง บ้างก็สนุกทุ่นแรงเขย่าโดยเอาไปแปะใบพัดของพัดลมให้เขย่าแทนก็มี
          ถ้าแค่จะลองเขย่าเอามันสักกล่องสองกล่องก็คงไม่เท่าไร ห่วงก็แต่รายที่ป่าวประกาศว่ารับเขย่าแล้วขายต่อ หรือคนที่อยู่ว่างๆ นั่งเขย่าไปเรื่อย เพราจะนำไปสู่อาการปวดข้อมือ เอ็นข้อมืออักเสบได้
          นพ.ไทยินทร์ ศรีมงคล ศัลยแพทย์กระดูและข้อ รพ.เวชธานี เตือนถึงอันตรายจากการเคลื่อนไหวมือและนิ้วบ่อยครั้ง เช่น การจับ บีบ เขย่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดการอักเสบและบวม เส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นไม่รื่นไหลตามปกติ บางคนเคลื่อนไหวมือลำบาก บางคนถึงขั้นเอ็นอักเสบที่ข้อมือก็มี
          เบื้องต้นคนที่เขย่าช็อกบอลมากๆ จะช้ำระบมบริเวณนิ้งโป้งด้านปลายแขนก็ใกล้ข้อมือ เส้นเอ็น 2 เส้นจะเสียดสีกันในขณะเคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเอ็น หากรุนแรงมากจะบวมตรงปลอกหุ้มเอ็นใกล้ข้อมือ หยิบจับอะไรไม่ได้
          ใครที่ปวดตามอาการดังกล่าว ควรหยุดพักการใช้งาน ไม่หยิบของหนัก บิดหมุนข้อมือ ซึ่งแพทย์อาจะแนะให้ใส่เฝือกอ่อนบริเวณแขน นิ้วโป้ง และอาจทานยาแก้อักเสบร่วมด้วย จะช่วยลดอาการปวดบวมของเยื่อหุ้มเอ็นได้
          ถ้าเขย่าจนอาการหนักกว่านั้น แพทย์อาจให้ฉีดยาคอร์ติซอล ที่ปลอกหุ้มเอ็น จะช่วยลดอาการของเยื่อหุ้มเอ็น บรรเทาอาการปวดชั่วคราว ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น และโรคข้ออักเสบเรื้อรัง (เช่น โรครูมาตอยด์) แทรกซ้อนด้วย
          เห็นวิธีรักษาเช่นนี้แล้ว บางคนอาจรู้สึกว่าเขย่าแค่นี้จะร้ายแรงถึงขนาดนี้เชียวหรืออย่าลืมว่าการเคลื่อนไหวอวัยวะอย่างอื่นอาจเป็นปัจจัยเสริมให้อาการปวดข้อมือเอ็นอักเสบลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ถ้ารักษาพยาบาลอย่างที่หมอบอกแล้วยังไม่หายอีก อาจต้องผ่าตัดเพิ่มพื้นที่ไม่ให้เอ็นเสียดสีภายในปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งจะต้องฉีดยาชาที่ผิวหนังและเปิดขยายปลอกหุ้มเอ็นใต้นิ้วโป้ง เมื่อแผลสมานกัน เนื้อเยื่อจะปิดปลอกหุ้มเอ็นเคลื่อนไหวมือได้คล่องขึ้น
          รู้กันแบบนี้แล้ว ยังจะเขย่าช็อกบอลอย่างไม่ลืมหูลืมตากันอีกมั้ย

          ปวดเล็กปวดน้อยพบหมอเป็นระยะ
          นพ.ไทยินทร์ ศรีมงคล แนะว่า ถ้าถึงขั้นผ่าขยายปลอกหุ่มเอ็นแล้วต้องดูแลไม่ให้แผลที่ผ่าตัดโดนน้ำซึ่งแพทย์จะนัดมาตัดไหมหลังการผ่าตัด 10-14 วัน
          รายไหนที่เขย่ามากจนไม่แน่ใจว่าเราเป็นเอ็นข้อมืออักเสบหรือไม่ ให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะข้อมือ นิ้วมือยังต้องใช้งานไปอีกนาน ถึงจะไม่ได้เขย่าช็อกบอล แต่ออกแรงในกิจกรรมอื่นบ่อยๆ แล้วปวดเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องมาตรวจเอาไว้บ้างนะครับ เพื่อตัวคุณเองไม่ใช่ใคร
          ร่วมแชร์ประสบการณ์ภัยสังคมที่พบเห็น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ส่งมาที่ somchaib@m2fnews.com

 pageview  1205156    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved