Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/06/2556 ]
ไข้เลือดออกระบาดทั่วประเทศป่วยอื้อผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก

กรมควบคุมโรคเตือนผู้ใหญ่เป็นไข้เลือดออกเพิ่ม ชี้เสี่ยงกว่าเด็ก แนะมีอาการเร่งพบแพทย์ ห้ามซื้อยากินเอง เชียงรายแค่ 5 เดือนป่วยพุ่งกว่าพันคน รพ.ชุมพรรับคนไข้เฉลี่ยวันละเกือบ 30 คน ตายแล้ว 3
          เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ ที่ปรึกษาด้านการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกในการรักษาโรคไข้เลือดออก กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ เดิมพบการระบาดเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ปัจจุบันจากการเดินทางที่สะดวกขึ้น ทำให้โรคไข้เลือดออกอยู่ในชุมชนเกือบทั้งประเทศ และพบได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการพบโรคไข้เลือดออกในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่พบโรคไข้เลือดออกได้มากในเด็ก
          "สิ่งที่น่าเป็นห่วงของการเกิดโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ คือ ผู้ใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักซื้อยากินเอง การกินยาลดไข้บางประเภทสามารถส่งผลกระทบต่อเกล็ดเลือด และทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ยังมีความเสี่ยงมากกว่าในแง่มีโรคประจำตัว มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลกระทบต่อการทำให้เกิดเลือดออกได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคนี้ คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ โดยเฉพาะแหล่งเพาะพันธุ์ที่อยู่ในบ้านซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้" ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ. สุจิตรากล่าว และว่า โรคไข้เลือดออกจะมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงรับเชื้อแล้ว เชื้อจะมีชีวิตในตัวยุงได้ถึง 2 เดือน และนำเชื้อไปสู่คนได้อย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าร้อยละ 80-90 ของคนที่ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ แต่มีระดับไวรัสต่ำๆ ในเลือด เมื่อถูกยุงกัดจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากไข้เลือดออกมีอาการไข้ที่ใกล้เคียงกับหลายๆ โรค แต่มีข้อสังเกตคือ จะถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากไข้เลือดออกมีอาการไข้ที่ใกล้เคียงกับหลายๆ โรค แต่มีข้อสังเกตคือ จะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หากเป็นไข้สูงเกิน 2 วัน ควรนึกถึงโรคไข้เลือดออก และเฝ้าระวัง โดยเฉพาะหากมีไข้ ปวดเมื่อยมาก ปวดท้องรุนแรงฉับพลัน ไม่ปัสสาวะ นอนไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์
          พระวิชัยมุนี เจ้าอาวาสวัดสำราญนิเวศน์ (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ไข้เลือดออกที่ จ.อำนาจเจริญ กำลังระบาดหนัก ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 500 รายแล้ว และตาย 2 ราย ที่สำคัญพบว่าพระลูกวัดทั้งพระทั้งเณรป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกกว่า 20 รูป ต้องเยียวยารักษากัน มีทั้งอาการดีขึ้นและป่วยหนักอยู่ก็มี ปีนี้ระบาดขั้นรุนแรงไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรอบ 10 หรือ 15 ปีก็ว่าได้ ช่วงเดือนนี้แค่ 90 หรือ 100 กว่าคน มาปีนี้พุ่งสูงมากว่า 500 รายแล้ว และก็ระบาดอย่างรุนแรงมาก สาเหตุมาจากมีน้ำท่วมขังและที่ จ.อำนาจเจริญ มีฝนตกชุกทุกวัน
          "อาตมาสั่งการให้พระเณรนอนกางมุ้งและทายากันยุงก่อนนอนทุกรูป ห้ามประมาท เพราะในวัดอาตมามียุงมากมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากเช่นกัน อย่างงานศพแต่ละงานมีประชาชนทิ้งขยะเป็นจำนวนมากเป็นแหล่งให้เกิดการแพร่ระบาดของยุงลายอย่างมาก" พระวิชัยมุนีกล่าว
          ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกใน จ.เชียงราย พบว่าอยู่ในขั้นรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พบว่า ระยะเวลา 5 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้ง 18 อำเภอ พุ่งสูงถึง 1,077 ราย ระบาดมากที่สุดใน อ.แม่สาย 301 ราย แม่จัน 149 ราย เวียงป่าเป้า 114 ราย อ.เมือง 111 ราย แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่การแพร่ระบาดรุนแรงกว่าห้วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 4 เท่าตัว
          นพ.ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งฉีดพ่นหมอกควันแบบปูพรมในทุกพื้นที่สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนและแหล่งชุมชน พร้อมให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และแจ้งเตือนราษฎรระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน และหากป่วยก็ให้รีบไปพบแพทย์
          ที่ จ.ชุมพร ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกถูกส่งตัวเข้ารักษาตัวที่ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดชุมพรเป็นจำนวนมาก จึงไปตรวจสอบ และพบ นพ.ฉัตรชัย พิริยประกอบ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ และนางเพ็ญศิริ เกียงสุภา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานกลุ่มงานเวชกรรมสังคม พาผู้สื่อข่าวเข้าไปเยี่ยมคนไข้โรคไข้เลือดออกมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งพักรักษาตัวอยู่พาผู้สื่อข่าวเข้าไปเยี่ยมคนไข้โรคไข้เลือดออกมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งพักรักษาตัวอยู่
          นางเพ็ญศิริเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เฉลี่ยวันละประมาณ 10-30 คน แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.ติดเชื้อไวรัสอย่างเดียว 2.ติดเชื้อไวรัสและมีอาการเลือดออก และ 3.ติดเชื้อไวรัสแล้วมีอาการช็อก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสแล้วมีอาการช็อกด้วย ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย คือที่ อ.ท่าแซะ อ.ทุ่งตะโก และ อ.หลังสวน อำเภอละ 1 ราย สองรายมีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ อีก 1 ราย อายุเกิน 10 ขวบ และทั้ง 3 รายเป็นเด็กอ้วน ส่วนการป้องกันก่อนเปิดเทอมได้ขอให้ทุกโรงเรียนดำเนินการพ่นหมอกควันกำจัดลูกน้ำยุงลาย แต่ที่มีปัญหาคือเครื่องพ่นหมอกควันมีน้อย จึงอาจยังไม่ทั่วถึง คิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละแห่งน่าจะจัดงบประมาณจัดซื้อเอาไว้
          "นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงปัจจุบัน ชุมพรมีผู้ป่วยไข้เลือดออกชนิดธรรมดา 412 ราย ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีเลือดออกด้วย 136 ราย ผู้ป่วยไข้เลือดที่มีอาการช็อกด้วย 12 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย แต่ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ยังสรุปไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากโรคไข้เลือดออกหรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไม่ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะมีหลายครั้งที่ อสม. เข้าไปให้คำแนะนำแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน บางคนต่อว่าและพูดจาไม่สุภาพกับ อสม.บางแห่งก็เลี้ยงลูกน้ำเอาไว้เป็นอาหารปลาแต่ไม่มีการป้องกันที่มิดชิด ขณะนี้ได้เร่งประชาสัมพันธ์ว่าสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว" นางเพ็ญศิริกล่าว
          นายสมบูรณ์ หนูนวล หัวหน้าศูนย์ควบคุมโรค ติดต่อนำโดยแมลงที่ 11.4 ชุมพร กล่าวว่า ทางศูนย์จะได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชุมพร เพื่อใช้ดำเนินการป้องกันโรคไข้เลือดออกปีละประมาณ 10 ล้านบาท แต่ปีนี้ได้รับงบส่วนนี้เพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันทางศูนย์มีเครื่องพ่นหมอกควันที่เพียงพอแต่มีปัญหาเรื่องสารเคมีที่จะใช้พ่นเท่านั้น
          รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกมากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ และมากเป็นอันดับ 5 ของ 7 จังหวัดในสาธารณสุขเขต 11 ซึ่ง จ.กระบี่ แพร่ระบาดเป็นอับดับ 1 รองลงมาคือ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช พังงา ชุมพร สุราษฎร์ธานี และระนอง

 pageview  1205162    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved