Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/05/2556 ]
หน้าร้อนต้องกินร้อนเรื่องปากท้องต้องใส่ใจ

 เมืองไทยอุณหภูมิร้อนแม้จะย่างเข้าหน้าฝนแล้ว ก็ตาม วิธีหนีร้อนของแต่ละคนก็ต่างกันไปบ้างก็หลบเข้าห้อง ตากแอร์เย็นๆ อาบน้ำบ่อยๆ ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ แต่ถ้าใครที่กินอาหารที่ตั้งไว้จนเย็นหรือปรุงด้วยความร้อนไม่มาก ไม่อยากกินร้อนๆ เกรงว่าจะร้อนไปกว่านี้ นักวิชาการบอกเลยว่า เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคเยอะ
          รศ.ดร.ประเวทย์ ตุ้ยเต็มวงศ์ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัยอาหาร ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เตือนประชาชนให้ใส่ใจเรื่องอาหารการกินโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน ไม่ควรเสี่ยงทานอาหารจานร้อน แล้วหันไปกินอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก เพราะอาจมีเชื้อโรคปะปนซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
          เชื้อโรคที่มักพบในอาหารเป็นเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่จะไม่ทนความร้อนมากนัก แต่เชื้อเหล่านี้สามารถแพร่จำนวนได้มาก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจพบอยู่แล้วในเนื้อสัตว์ ผักต่างๆ ที่ซื้อมาจากตลาด หรือแม้แต่ในถุงพลาสติกที่ใส่อาหารมา
          บางครั้งแม้แม่ค้าจะนำวัตถุดิบมาปรุงสุกผ่านความร้อนแล้ว แต่ยังมีจุลินทรีย์บางชนิดทนความร้อนสูง อย่างพวกสปอร์ของบาซิลัส ซับทีลิส (Bacillus Subtilis) ที่พบในอาหารกระป๋องและข้าวสวย รวมทั้งเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ในหน่อไม้ปีบ
          ตามธรรมดาอาหารที่ปรุงสุกทั่วไปปรุงด้วยความร้อนไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อได้ เชื้อเหล่านี้ก็ยังคงเพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษต่อไปได้ หากเรายิ่งวางอาหารไว้จนเย็นชืด เชื้อเหล่านี้จะยิ่งขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น
          รศ.ดร.ประเวทย์ ยกตัวอย่างข้าวผัดที่มักผัดไว้ขายกระทะใหญ่ๆ หรืออาหารที่วางขายตั้งแต่เช้ายันเย็น แน่นอนว่าเชื้อบางส่วนก็จะตายไปแต่พวกคลอสตริเดียม โบทูลินัม กับบาซิลัสซับทีลิสจะเหลือรอด เพราะมันมีสปอร์ที่มีเปลือกหุ้มแข็งเหมือนเมล็ดถั่วเขียวที่ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี วิธีฆ่าเชื้อชนิดนี้ต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 121 องศาเซลเชียส อย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป
          จริงอยู่ที่ข้าวผัดจะใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร แต่การผัดข้าวทำสปอร์เชื้อที่ทนความร้อนอ่อนนุ่มลงเท่านั้น เมื่ออุณหภูมิอยู่ที่ 5-60 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอันตรายเชื้อเหล่านี้จะขยายตัวและถ่ายของเสียออกมาได้เร็วขึ้น
          หากรับประทานอาหารที่อยู่ในช่วงอันตรายเกินกว่า 2-4 ชม.จะเป็นโทษต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ทานยาต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอจะแสดงอาการได้มากกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง
          ทั้งนี้ แม้เราจะปรุงอาหารอย่างสุก สะอาด ถูกหลักอนามัย ไร้เชื้อโรค แต่ต้องไม่ลืมระวังการรักษาความสะอาดภาชนะใส่อาหาร ช้อนแม้แต่มือของผู้รับประทานเอง ถ้าไม่ล้างก่อนทาอาหารอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
          สำหรับวิธีที่จะลดการปนเปื้อนได้คือการรักษาความสะอาดบ้านไม่ให้มีเศษขยะ เศษอาหาร จะได้ไม่มีพวกหนู มด แมลง จิ้งจกตัวนำเชื้อโรคมาสู่จานชามและอาหาร หากต้องทานอาหารนอกบ้านให้สังเกตผู้ประกอบอาหารว่าใส่หมวกคลุมผม แต่งกายมิดชิด ดูสะอาดสะอ้านดีหรือไม่
          อย่างน้อยถ้าเห็นแม่ครัว เด็กเสิร์ฟยืนเกาผม เคาะขี้เล็บ ไอจามอยู่ ก็ไม่ควรเสี่ยงทานแล้ว แม้ไม่รู้ว่าอาหารจะสุกสะอาดแค่ไหน แต่ถ้าสุขอนามัยไม่ดี ก็ไม่คุ้มจ่ายเงินซื้อกินหรอกครับ
          ทานข้าวนอกบ้านต้องระวังเพิ่มสองเท่า
          ใครมีความจำเป็นต้องทานอาหารนอกบ้าน ให้สั่งอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนสูงๆ ไว้ก่อนอย่างก๋วยเตี๋ยวแม้จะร้อนหน่อยแต่ก็ดีกว่ากินเย็น และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องปรุงเพิ่มจนรสจัดสุดโต่ง ถ้าเห็นถาดเครื่องปรุงมีมดขึ้น พริกแห้งแฉะ ก็อย่าไปทานให้เสี่ยงกับโรค
          ถ้าสั่งข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ที่ต้องใช้เขียงสับอาหารให้สังเกตดูว่าเขียงอยู่ในสภาพดี สะอาด ไม่แตกเป็นร่อง เพราะเขียงที่แตกจะเป็นแหล่งรวมเศษอาหาร อาจมีแมลงสาบมดมากินอาหารบนเขียง งานนี้อันตรายแน่นอนครับ

 pageview  1205155    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved