Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/12/2555 ]
เด็กประถมสมาธิสั้น3แสนคนหวั่นถูกทำร้ายเหตุไม่เข้าใจ

 สังคมสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนทำเด็กไทยป่วย 'ไฮเปอร์ แอคทีฟ' อื้อ สธ.ชี้ร้อยละ 5 ฆ่าตัวตายสำเร็จ เหตุแม่ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ตอนท้อง แนะผู้ปกครองรักษาแต่เนิ่นๆ รพ.ศูนย์ทุกแห่งรักษาได้
          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนมากขึ้น ในกลุ่มเด็กปฐมวัย พบว่ามีเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยมากถึงร้อยละ 30 ระดับความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ย 98.59 จุด ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่อยู่ที่ 100 จุด ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 49 มีไอคิวต่ำกว่าปกติ และมีเด็กที่มีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง คือมีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 จุด มากถึงร้อยละ 6.5 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล 3 เท่าตัว ซึ่งกำหนดให้มีกลุ่มนี้ไม่เกินร้อยละ 2
          นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า โรคในเด็กที่น่าเป็นห่วงอีกโรคหนึ่ง และจะมีผลต่ออนาคตของเด็กไทย คือโรคสมาธิสั้น หรือโรคเอดีเอชดี (ADHD : Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือที่เรียกกันติดปากว่า โรคไฮเปอร์แอคทีฟ (hyperactive) พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้คิดว่าเด็กป่วย โดยโรคนี้มักพบในเด็กชาย เด็กจะไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ มีอาการหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่สุข ควบคุมตัวเองไม่ได้ หากไม่รักษาจะมีผลต่ออนาคตของเด็กเองและอาจถูกทำร้ายจากผู้ปกครองหรือญาติ จากความไม่เข้าใจ ผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 พบว่าป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 310,000 ราย
          นพ.ชลน่านกล่าวว่า จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า 1 ใน 4 ของเด็กที่ป่วยโรคนี้ ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าว อีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด มีปัญหาสุขภาพจิตถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย มีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ จึงได้มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิต เร่งเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคและวิธีการสังเกตพฤติกรรมผิดปกติของลูกหลาน เพื่อที่จะพาไปรักษาตั้งแต่ยังเด็ก และรักษาหายขาดได้ โดยขณะนี้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์ทุกจังหวัดสามารถให้การรักษาได้
          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในวัยเด็กตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบใน ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ อาการที่เป็นสัญญาณโรค จะปรากฏเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน ส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียนไม่เต็มศักยภาพ จึงแนะนำให้ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคนี้เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผลและทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น

 pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved