Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/11/2555 ]
'สวยสั่งตาย' ภัยของคนอยากสวย

  เป็นข่าวครึกโครมอยู่ 2 อาทิตย์ กรณีพริตตี้สาว ไปฉีดฟิลเลอร์เข้าสะโพกกับหมอเถื่อน ถึงขั้นช็อคหมดสติ เพื่อนต้องหามส่งโรงพยาบาลในอาการโคม่า และต่อมาเพียง 2 อาทิตย์จากเจ้าหญิงนิทรา พริตตี้สาวก็สังเวยชีวิตให้กับ "ความ (อยาก) สวย" นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าอันตรายถึงชีวิตจากเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่อันตรายที่ส่งผลต่อชีวิตแบบเรื้อรังก็มีให้เห็นกันแทบจะเป็นเหตุการณ์ปกติ
          หลักๆ ก็มาจากหมอเถื่อน หมอกระเป๋า   ยาปลอม และยาอันตรายที่ไม่ผ่านการรับรอง ที่มีให้เห็น กันเกลื่อน แม้ว่าจะไม่มีการการันตีความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น
          กรณีพริตตี้สาวที่ฉีดฟิลเลอร์เสริมสะโพกจนหมดสติ หมอระบุว่าเป็นเพราะสารโพลีอะคริลาไมด์ ที่ฉีดแล้วอาจรั่วไหลเข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วไปอุดตันที่ปอด จนไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ เมื่อสมองขาดเลือดและออกซิเจน จึงหมดสติและกลายเป็น เจ้าหญิงนิทราและต่อมาก็คืออันตรายถึงแก่ชีวิตนั่นเอง
          สารโพลีอะคริลาไมด์  ก่อนหน้านี้อาหารและยา (อย.) เคยรับรอง แต่หลังจากพบว่า มีเคสเป็นมะเร็งเต้านมจึงได้ถอดออกจากทะเบียน ทั้งนี้ สารดังกล่าว มักถูกโฆษณาหลอกลวงว่าสลายตัวช้าอยู่ได้หลายปี ประชาชนส่วนใหญ่จึงหลงเชื่อนิยมไปฉีดสะโพก หรือฉีดเสริมหน้าอก ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย
          แถมใครที่เคยฉีดสารนี้ แม้ไม่พบว่ามีอันตรายใดๆ แต่เนื่องจากสารโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งเป็นสารที่ไม่สลายตัว ให้ผลคล้ายซิลิโคน จึงอาจทำให้เกิดมะเร็งในระยะยาวได้
          จากเหตุการณ์การเสียชีวิตของพริตตี้สาว นับเป็นตัวอย่างที่สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษา และประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคในโลกสมัยใหม่ต้องระมัดระวังในการใช้บริการเพื่อเสริมความงาม เพราะหากพลาดเพียงไม่กี่อึดใจ ท่านอาจเป็นเหยื่อของ "ความอยากสวย" ได้ง่ายๆ
          การศัลยกรรมเสริมความงาม แฝงเร้นด้วยอันตรายหากทำไม่ถูกวิธี ตัวอย่างมีให้เห็นได้จากดาราะ นักร้องดังทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ไปฉีดสารอันตรายนานาชนิด จนหน้าย้อย คางโย้ ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจาก "หมอกระเป๋า" และ "หมอเถื่อน" แทบทั้งสิ้น
          แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข จะให้ความสำคัญในการตรวจรับรองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกประเภทให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดประชาชนกลับตกเป็นเหยื่ออยู่ไม่เว้นแต่ละวัน
          หากโฟกัสไปในกรุงเทพฯะ ปริมณฑล ในส่วนของคลินิกเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกว่า 4,000 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นคลินิกที่จัดให้บริการเกี่ยวกับการเสริม ความงามประมาณ 500 แห่ง ในปี 2554 ได้มีการสุ่มตรวจและปรับปรุงไปแล้ว 350 แห่ง และปราบปรามดำเนินคดีคลินิกที่ไม่ถูกต้อง จำนวน 14 คดี ส่วนใหญ่เป็นคลินิกที่จัดให้มีบริการเสริมความงาม ลดน้ำหนัก ศัลยกรรมตกแต่ง ดูแลผิวพรรณ ทำแท้งเถื่อน และหมอเถื่อน
          ส่วนในปี 2555 ในช่วงเดือนสิงหาคมะ เดือนกันยายน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังคลินิกกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จำนวนมากถึง 200 แห่ง และดำเนินคดีไปแล้ว 20 คดี ประกอบด้วยคลินิกศัลยกรรมเถื่อน 4 คดี คดีทำแท้งเถื่อน 3 คดี และเป็นหมอเถื่อนอีก 14 คดี และพบคลินิกที่ทำผิดกฎหมาย 20 แห่ง ประกอบด้วยคลินิกที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล แต่ไม่มีแพทย์ประจำการ 14 แห่ง คลินิกเถื่อน 6 แห่ง
          จะเห็นได้ว่าแม้ทางการจะเข้มงวดแต่หมอเถื่อน หมอกระเป๋า รวมทั้งสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายยังปรากฏได้ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ประชาชน ที่ไม่อยากเสียโฉมหรือได้รับอันตราย รวมทั้งสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการหลงไปใช้บริการจากคลินิกเถื่อน จะต้องสังเกตอย่างไร?
          1.ป้ายหน้าร้านต้องมีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย โดยสังเกตที่หน้าสถานพยาบาลจะต้องมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ แสดงชื่อสถานพยาบาล ประเภท และลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นเลขจำนวน 11 หลัก ปรากฏอยู่ด้านล่าง หรือติดอยู่ที่กระจก
          2. การสังเกตว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ให้ดูที่หน้าห้องตรวจซึ่งต้องแสดงป้ายที่มีรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ พร้อมชื่อะ สกุล และเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพหรือเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะของแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพนั้น
          3. หากสงสัยว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพศิลปะจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบข้อมูลจากสภาวิชาชีพ นั้นๆ
          4.  ถ้าไม่มีใบประกอบโรคศิลปะหรือเป็นบุคคลที่ถือกระเป๋าให้การรักษาหรือฉีดยาตามบ้าน หรือที่มีการรักษาตามสถานที่ต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม รถ หรือในสถานที่ลับตาคน ถือว่าเป็นหมอเถื่อนและสถานพยาบาลเถื่อน อย่าเห็นแก่ราคาถูก แต่ต้องเสี่ยงอันตราย เพราะคุณอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้
          นอกจากนี้ ยาที่ใช้ในการรักษาหรือยาที่ใช้ในการให้บริการ จะต้องได้รับอนุญาตหรือมีการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับสารเหลวที่มีการฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อเสริมความงามเกือบทั้งหมดเป็นยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงถือเป็นยาเถื่อน แพทย์แผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพก็ไม่สามารถนำมาฉีดได้ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
          และนอกจากการระมัดระวังตัวเองแล้ว หากพบความผิดปกติสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร. 0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง และหากสงสัยการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงาม จะต้องระมัดระวังและจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนการตัดสินใจและหากสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โทร. 0-2716-5256 สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย โทร. 0-2716-6214

 pageview  1205106    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved