Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/08/2555 ]
สารเร่งเนื้อแดง ภัยร้ายผู้บริโภค

จำได้ว่าเคยหยิบยกเรื่องของการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในบ้านเรามาพูดถึงอยู่หลายครั้ง
          ขณะนี้มีประเด็นที่ไม่พูดคงไม่ได้ นั่นคือ เรื่องผลการประชุมประจำปี 2555 ของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ CAC ของโคเด็กซ์ (Codex) ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 2-7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้มีการกำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ (MRLs) ของสารเร่งเนื้อแดง Ractopamine
          เท่ากับเป็นการอนุญาตให้มีการใช้สารนี้กับสัตว์เลี้ยงได้ จึงเป็นข้อกังขาอยู่ในใจว่า.... อะไรที่ทำให้ที่ประชุม CAC ยอมให้มีการใช้สารนี้ได้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นประเด็นคงค้างในการพิจารณาและมีกระแสคัดค้านตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 16 ปีที่ผ่านมา จึงต้องหันกลับมาย้ำให้ประเทศไทยของเรายึดมั่นในจุดยืนเรื่องการป้องปรามให้ไทยปลอดจากสารเร่งเนื้อแดงอย่างที่ทำมาร่วม 10 ปี
          สาร Ractopamine มหันตภัยใกล้ตัว
          แร็กโตพามีน (Ractopamine) เป็นหนึ่งในสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ (B-Agonist) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหาร เพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ และเพิ่มปริมาณเนื้อแดง จริงอยู่ที่การใช้สารนี้ส่งผลให้สัตว์มีชั้นไขมันลดลง และเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ แต่หากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมากจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของหลอดลม หลอดเลือด ซึ่งไม่เพียงมีผลต่อตัวสัตว์ ให้มีอาการตื่นตกใจง่าย กล้ามเนื้อขาสั่น ยังอาจช็อกถึงตายได้ง่ายๆ หากตื่นเต้นมากๆ
          ที่สำคัญสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้กล้ามเนื้อสั่น-กระตุก มีอาการมือสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน และปวดศีรษะ จึงเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก และโรคเบาหวาน
          ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลายของสารดังกล่าว อย่างเช่น เนื้อสุกรต้องตรวจไม่พบสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ทุกชนิด
          การลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง
          แม้ว่าสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ จะเป็นสารเคมีภัณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ.2525 และพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคหากได้รับสารนี้ที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ หากแต่ยังพบว่า มีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงนี้ในสุกร วัว และสัตว์ปีก
          อย่างไรก็ตาม การลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในสุกร เนื่องจากสารนี้ทำให้สุกรมีเนื้อแดงมากขึ้น ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าเนื้อสุกรที่มีมันมาก จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบใช้นั่นเอง
          มูลเหตุจูงใจใช้สารเร่งเนื้อแดง
          ความนิยมและความห่วงใยในสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมารับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน มีสีแดงสวยน่ารับประทาน ด้วยเข้าใจว่าปราศจากไขมันหรือมีคอเลสเตอรอลน้อย ทำให้เสี่ยงกับการรับประทานเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง เนื่องจากเนื้อสุกรดังกล่าวจะมีปริมาณของไขมันต่ำกว่าปกติหรือแทบไม่มีให้เห็น
          ขณะที่สุกรที่เลี้ยงตามปกติจะมีชั้นไขมันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าเป็นเนื้อสุกรสามชั้น จะมีสัดส่วนไขมันอยู่ที่ร้อยละ 60 ต่อเนื้อแดงร้อยละ 40 ส่วนสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะมีสัดส่วนของไขมันในอัตราส่วนตรงกันข้าม เนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างจึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อีกทั้งเกษตรกรยังถูกบีบคั้นจากพ่อค้าคนกลาง หรือบรรดาเขียงสุกรให้นำสารเร่งเนื้อแดงมาใช้ เพื่อให้เนื้อสุกรมีสีสันแดงสด ไขมันน้อย สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่แพงขึ้น
          ด้านเกษตรกรเอง การใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกรก็ช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้มาก เนื่องจากสุกรที่ไม่ใช้สารที่จะเจริญเติบโตตามปกติ ปริมาณกล้ามเนื้อต่ำกว่าและชั้นไขมันใต้ผิวหนังหนากว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสุกรที่กินอาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะเจริญเติบโตเร็ว รูปร่างกำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ และที่แน่นอนคือขายได้ราคาดีกว่า
          เมื่อความต้องการในการบริโภค และปัจจัยการผลิตสอดคล้องกัน การลักลอบนำสารเร่งเนื้อแดงมาใช้ในการเลี้ยงสุกร จึงมีให้พบเห็นอยู่ตลอด แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามใช้และห้ามนำเข้าสารเคมี และอาหารที่มีส่วนผสมของสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ รวมถึงกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในการเลี้ยงสัตว์โดยเด็ดขาดเป็นตัวควบคุมอย่างเคร่งครัดแล้วก็ตาม
          เตือนไทยอย่าก้าวถอยหลัง
          ประเทศไทยได้ประกาศจุดยืนเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร หรือ Food Safety โดยกำหนดเป็นนโยบายมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ส่วนของการผลิตสัตว์ โดยเฉพาะในธุรกิจสุกรต้องพัฒนาไปสู่การผลิตเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ตั้งแต่การเลี้ยงภายในฟาร์ม การฆ่าชำแหละ จนถึงการแปรสภาพและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ มีการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครอง ผู้บริโภค
          ซึ่งหมายรวมถึงการเข้มงวดในการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงด้วย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีมาตรการเข้าควบคุมตรวจสอบสุกรทั้งในส่วนของฟาร์มเลี้ยงและโรงฆ่าสัตว์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อสุกรที่วางจำหน่าย และให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
          รวมถึงการให้สัตยาบันของเกษตรกรที่จะไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง
          หากในไทยยินยอมให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง Ractopamine ได้อย่างอิสระแล้ว ความพยายามในการรณรงค์มาอย่างช้านาน ในห้วงช่วงเวลาร่วม 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยง สุกรของไทยปลอดสารเร่งเนื้อแดง ก็เท่ากับ ต้องเสียเวลาเปล่า แล้วการคุ้มครองผู้บริโภคที่ทุกหน่วยงานเฝ้าเพียรพยายามทำมาก็เปล่าประโยชน์ และไม่ต่างอะไรกับการก้าวถอยหลัง
          ค้านใช้สาร Ractopamine หวั่นตกค้างสู่ผู้บริโภค
          ข้อกังวลหนึ่งหากไทยมีการอนุญาตใช้สารเร่งดังกล่าวได้จริง ประการแรกคือ การที่เกษตรกรนำสารเร่งเนื้อแดงไปใช้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การนำไปใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้มากเกินไป รวมถึงการใช้โดยไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การตกค้างของสารดังกล่าวในเนื้อสัตว์สู่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งดังกล่าวข้างต้น
          ประการต่อมา หากมีการนำสารเร่งเนื้อแดงไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ สำหรับโรงผลิตอาหารสัตว์ขนาดเล็ก ที่การผลิตอาหารสุกรและอาหารไก่ จำเป็นต้องใช้ไลน์การผลิตเดียวกัน ซึ่งหากไม่มีการควบคุมการล้างไลน์ผลิตที่เข้มงวด อาจเกิดการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในอาหารไก่ด้วย
          ผลที่ตามมาคือ มีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อไก่ ที่หากตรวจพบการตกค้างดังกล่าวแล้ว อาจกระทบถึงความเชื่อมั่นจากประเทศผู้นำเข้าเนื้อไก่รายใหญ่อย่างสหภาพยุโรป หรือ EU ที่มีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด และเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก เท่ากับว่าผลที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นลูกโซ่ไปถึงอุตสหกรรมไก่เนื้อทั้งประเทศ ด้วย
          การที่ Codex อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง Ractopamine ในการเลี้ยงสัตว์นี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องไตร่ตรองให้มากถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งในแง่อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของประเทศ และความปลอดภัยในอาหารของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลภายใต้แกนนำของนายกฯยิ่งลักษณ์เองก็พยายามผลักดัน เพื่อเป็นอีกแรงหนุนครัวไทยสู่ครัวโลก...
          อย่าให้สารเร่งเนื้อแดงกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางเป้าหมายที่ว่านี้เลย!!!./
 

 pageview  1205144    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved