Follow us      
  
  

หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/02/2555 ]
ประเด็นร้อนสมัชชาสุขภาพ เชือด โฆษณายา ผลิตภัณฑ์
          สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเปิดประชุมแล้ววันที่ 2-4 กุมภาพันธ์นี้ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ โดย นายวิทยาบุรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ "รับมือภัยพิบัติจัดการภัยสุขภาวะ" ว่า ประเทศไทยแม้จะตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมาพบว่ามีความรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องมีการคิดทบทวนกันใหม่ จัดระบบ และเตรียมตัวเพื่อความไม่ประมาท ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมพร้อมรับมือโรคภัยไข้เจ็บ การเตรียมพร้อมด้านการบริการทางการแพทย์ ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเร็ว และปลอดภัยที่สุด
          "ในส่วนโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ อาทิ เครื่องปั่นไฟ เครื่องมือเครื่องไม้ที่จำเป็นต้องยกขึ้นที่สูงให้หมดหากเกิดน้ำท่วมอีก ที่ผ่านมา สธ.ได้รับงบฟื้นฟูเบื้องต้นเกี่ยวกับอาคาร สถานที่แล้วจำนวน 800 ล้านบาท และยังได้รับงบในส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบเสื่อมสภาพกระจายช่วยเหลือในการซื้อเตรียมพร้อมด้านเครื่องมือ คุรุภัณฑ์ต่างๆโดยเฉพาะน้ำเกลือ อย่างไรก็ตาม ในส่วน
          ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางพื้นที่เมื่อน้ำท่วมได้ส่งผลต่อสภาพอาคารพื้นที่มากที่สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ได้ยื่นเรื่องของบในการหาพื้นที่ใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา"รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าว
          จากนั้นที่ประชุมพิจารณาวาระสำคัญการจัดการปัญหาโฆษณายา และผลิต ภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่นเคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเตอร์เน็ตโดย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 กล่าวว่า การโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และปัจจุบันมูลค่าของการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
          ในช่วง 4 ปี ระหว่างปี 2549-2552 การโฆษณายามีมูลค่าสูงกว่า2.5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนอาหารมีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าการโฆษณาสูงกว่าปี 2539 ถึง 12 เท่า ซึ่งหากปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายผ่านสื่อต่างๆ เหล่านี้คาดว่ามีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 12 ล้านครัวเรือนที่เข้าถึงสื่อเคเบิลทีวีโทรทัศน์ดาวเทียม หรือร้อยละ 60 ของจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยได้รับผลกระทบ จึงจำเป็นที่สมัชชาสุขภาพต้องหารือเพื่อออกเป็นมติและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป
          ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และส่งผลให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามมติ ทำให้เพิ่มความเข้มแข็งและแข็งแรงในการกำกับดูแล ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพตามที่ระบุในร่างมติสมัชชาสุขภาพหมายถึง ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย.ทั้งอาหาร เครื่องสำอางเครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และยาเสพติด
          หากมติสมัชชาสุขภาพในเรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.จะทำให้ อย.ดำเนินการควบคุมบังคับใช้กฎหมายได้ง่าย เนื่องจากจะเกิดการประสานความร่วมมืออย่างน้อยจาก 3 ภาคส่วน คือ 1.ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะ อย.ต้องพึ่ง กสทช.ในการออกข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการเพิกถอนใบอนุญาตและต่ออายุผู้ขออนุญาตประกอบการ จะช่วยให้อย.ตามตัวเข้าถึงผู้ทำผิดและดำเนินคดีได้ชัดเจนขึ้น 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จะมีพลังและศักยภาพอย่างมากในการบังคับใช้กฎหมายกับสื่อที่กระทำความผิดในท้องถิ่น และ 3.ภาคประชาชนและสื่อหากวิชาชีพสื่อมีจรรยาบรรณหรือแนวทางการรับโฆษณา จะช่วยกรองไม่ให้มีโฆษณาที่ผิดกฎหมายได้ในเบื้องต้น บวกกับประชาชนรับรู้สิ่งที่ถูกต้อง ไม่ซื้อ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายจะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคได้มาก
          "ผลิตภัณฑ์ที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณามากที่สุด ได้แก่ ยาโดยเฉพาะยาแผนโบราณ ซึ่งบางยี่ห้อมีการโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ดาวเทียมไม่น้อยกว่า 50 ครั้งต่อวัน, อาหารและเครื่องสำอาง ทั้งนี่ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังของอย. พบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดไม่น้อยกว่า 1 พันรายการต่อเดือนและมีร้องเรียนจากประชาชนกว่า 100 เรื่องต่อเดือน ซึ่งยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมีความล้าสมัย โดยเฉพาะในเรื่องของบทลงโทษน้อยมาก คุ้มต่อการที่จะฝ่าฝืน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น เช่น พ.ร.บ.ยา ที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2510 และ พ.ร.บ.อาหาร บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้น" ภญ.ศรีนวลกล่าว ทั้งนี้ จากการศึกษาการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านวิทยุท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ชัยภูมิเชียงใหม่ และสงขลา พบว่ามีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหารพ.ศ.2522 สูงถึงร้อยละ 95.2 และพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 สูงถึงร้อยละ 64
          ในการประชุม วันที่ 3 กุมภาพันธ์พิจารณาวาระการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน และเรื่องการจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย (สุขใจไม่คิดสั้น) และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นการพิจารณาเรื่องที่ยืดเยื้อต่างๆ ก่อนที่จะสรุปว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาเป็นนโยบายต่อไป
 pageview  1205066    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved