HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ฝนนี้ระวัง!! ไข้เลือดออกระบาด








โรคไข้เลือดออก (Dengue Haemorrhagic Fever) เริ่มระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ป่วย 2,418 ราย และเสียชีวิต 240 ราย (10%) โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือ เชื้อไวรัสเด็งกิ่ว (Dengue) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและพบทุกปีคือ ชนิดที่ 2 และมักทำให้อาการรุนแรง ส่วนชนิดที่ 4 จะพบได้เพียงบางปีเท่านั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อ

ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่าๆกัน เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่พบว่าเป็นไข้เลือดออก คือ อายุประมาณ 2 เดือน เด็กอายุ 5-9 ปี มีโอกาสเป็นโรคบ่อย ระยะหลังพบว่าเด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ มีแนวโน้มเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น

โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง แต่จะต้องติดผ่านทางยุงลายเท่า นั้น ยุงลาย ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ในเมือง เพาะพันธุ์ในน้ำใส เช่น ในภาชนะที่ขังน้ำฝน แอ่งน้ำขังบริเวณบ้าน โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด ยุงลายจะกัดเฉพาะเวลากลางวัน โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่กำลังเป็นไข้เลือดออกและมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวผู้ป่วย เมื่อไวรัสตัวนี้เข้าไปอยู่ในตัวยุงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้ตลอดอายุไขของยุง (ประมาณ 1-2 เดือน) ยุงจะแพร่เชื้อไวรัสได้ทุกครั้งที่กัด โรคไข้เลือดออกมักระบาดในฤดูฝนเนื่องจากจำนวนยุงจะมีมากขึ้นในฤดูนี้


สถานการ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน

จากรายงาน 506 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แจ้ง ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 33,154 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 51.74 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ณ ช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 226.77 (3.3 เท่า) กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 15-24 ปี (ร้อยละ 28.9) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน (ร้อยละ 52.35) จำนวนผู้ป่วยตาย 37 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.11 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยตายสูงสุดคือ 15-24 ปี (ร้อยละ 35.1) ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน (ร้อยละ 59.4)


แผนภูมิแสดงจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจำแนกรายเดือน ปี 2556 ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2556



ที่มา : รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2556 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556) สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://www.thaivbd.org/contact_us.php

ในระดับภาค อัตราป่วยสะสมพบว่า ภาคใต้ อัตราป่วยสูงที่สุด 99.79 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วย 8,953 ราย รองลงมา ภาคกลาง คือ พบอัตราป่วย 45.98 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วย 9,994 ราย ภาคเหนือ อัตราป่วย 45.59 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วย 5,372 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 40.93 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วย 8,835 ราย ตามลำดับ ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 แสดงจํานวนผู้ป่วย / ผู้ป่วยตาย / อัตราป่วย / อัตราตาย ปี 2556 จําแนกตามรายภาค



ที่มา : รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2556 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556) สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://www.thaivbd.org/contact_us.php


ในระดับจังหวัด อัตราป่วยสะสมพบว่า จังหวัดกระบี่ มีอัตราป่วยสูงที่สุด 208.43 ต่อแสนประชากร รองลงมา สงขลา พบอัตราป่วย 186.03 ต่อแสนประชากร ภูเก็ต อัตราป่วย 185.96 ต่อแสนประชากร พังงา อัตราป่วย 132.19 ต่อแสนประชากร และเลยอัตราป่วย 122.58 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ดังตารางที่ 2


ตารางที่ 2 แสดงอัตราป่วยสะสม ตั้งแต่ 1 มกราคม – 21 พฤษภาคม 2556 จำแนกตามจังหวัด



ที่มา : รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2556 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556) สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://www.thaivbd.org/contact_us.php






เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - http://www.thaivbd.org/

 - http://xn--12cbf9dsdo0dba0hreua2a5e.blogspot.com/

 - http://www.scribd.com