HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในปัจจุบัน








โรคอุจจาระร่วง หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้งติดต่อกันหรือมากกว่า หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง จึงได้แบ่งอาการไว้ 2 ชนิด

1. อาการท้องร่วงอย่างเฉียบพลัน หมายถึง อาการท้องร่วงที่เป็นทันทีทันใด แต่เป็นระยะสั้นๆ ไม่เกินสองสัปดาห์

2. อาการท้องร่วงชนิดเรื้อรัง หมายถึง อาการท้องร่วงที่เป็นติดต่อกันนานกว่าสองสัปดาห์และบางรายอาจเป็นเดือนหรือหลายเดือนติดต่อกัน หรือมีอาการเป็นพักๆ

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิ

การติดต่อของโรค

โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย

ระยะฟักตัวของโรค

อาจสั้น 10-12 ชั่วโมง หรือ 24-72 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดของเชื้อก่อโรค

ระยะติดต่อ

ช่วงระยะที่มีอาการของโรค

อาการแสดงของโรค

การเกิดอาการท้องร่วงมีได้มากมายหลายสาเหตุของโรคแต่เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ท้องร่วงจากการติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย จะมีลักษณะอาการและลักษณะอุจจาระที่ออกมาแตกต่างกันที่น่ารับรู้และให้สังเกตไว้ ได้แก่ อหิวาตกโรค จะมีลักษณะอุจจาระคล้ายน้ำซาวข้าว ผู้ป่วยจะมีการอาเจียน อ่อนเพลีย และซึมร่วมด้วย ท้องร่วงจากเชื้อบิดมักจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดร่วมกับมีอาการอาเจียน มีไข้สูง อ่อนเพลีย

2. ท้องร่วงชนิดไม่มีการติดเชื้อ โรคที่พบได้บ่อยในบ้านเรา ได้แก่ การขาดเอ็นไซม์แลคเตส ที่ทำการย่อยน้ำตาลนม จากการศึกษาเรื่องแลคเตสในเยื่อบุของเซลล์ลำไส้ของคนไทยพบว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ขากเอ็นไซม์ตัวนี้ อาการของผู้ป่วยโรคนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ดื่มนมสดไปแล้วประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง คือ รู้สึกโครกครากในท้อง ปวดท้องแบบปวดบิดๆ และมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำ 1-2 ครั้งแล้วค่อยหายไป

คำแนะนำสำหรับประชาชน

โรคอุจจาระร่วง หรือ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ทั้งหมดเป็นโรคที่ประชาชนสามารถป้องกันได้ด้วยการกันดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกฎทอง 10 ประการ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง คือ

1. เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง

2. ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน

3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

4. หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นส่วนอาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ

5. ก่อนที่จะนำอาหารมารับประทานความอุ่นให้ร้อน

6. ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้

7. ล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ

8. ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง

9. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ

10. ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารกได้

กฎ 3 ข้อ ขององค์การนามัยโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนหรือเด็กในครอบครัวมีอาการของโรคอุจจาระร่วงก็สามารถเริ่มต้นรักษาได้ที่บ้านโดยใช้กฎ 3 ข้อ ขององค์การนามัยโลก

1. ให้สารน้ำละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือ ของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

2. ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร

3. เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ได้แก่

- ถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น

- อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้

- กระหายน้ำกว่าปกติ

- มีไข้สูง

- ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด

สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในประเทศไทย

จากรายงาน 506 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วย 1,013,225 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 1595.00 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 37 ราย คิดเป็นอัตราตาย 0.06 ต่อแสนประชากร สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 1: 1.29 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ >65 ปี (10.96 %) 15-24 ปี (9.98 %) และ25-34 ปี (9.94 %)

สัญชาติที่พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ได้แก่ สัญชาติไทยคิดเป็นร้อยละ 98.6 พม่าร้อยละ 0.7 กัมพูชาร้อยละ 0.2 ลาวร้อยละ 0.1 จีน/ฮ่องกง/ไต้หวันร้อยละ 0.0 มาเลเซียร้อยละ 0.0 เวียดนามร้อยละ 0.0 และอื่นๆ ร้อยละ 0.4 ตามลำดับ ดังตารางที่ 1


ภาพที่ 1 แสดงลำดับของผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงมากที่สุด ปี 2555 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) จำแนกตามเชื้อชาติ


ลำดับ สัญชาติที่ป่วยมากที่สุด อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
1 ไทย 3.71
2 พม่า 0.62
3 กัมพูชา 0.42
4 ลาว 0.12
5 จีน/ฮ่องกง/ไต้หวัน 0.08
6 มาเลเซีย 0.0
7 เวียดนาม 0.0
8 อื่นๆ 0.4


ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พบว่าภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ 1927.31 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1711.17 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 1398.34 ต่อแสนประชากร และภาคกลาง 1376.95 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ดังตารางที่ 2


ภาพที่ 2 จำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ปี2555 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) จำแนกตามภาค


ภาค อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
เหนือ 1927.31
ตะวันออกเฉียงเหนือ 1711.17
ใต้ 1398.34
กลาง 1376.95


ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Diarrhoea (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 21 ต.ค. 2555) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ภูเก็ต (3303.24 ต่อแสนประชากร) ตาก (3255.19 ต่อแสนประชากร) ฉะเชิงเทรา (3109.20 ต่อแสนประชากร) แม่ฮ่องสอน (2917.96 ต่อแสนประชากร) และปราจีนบุรี (2888.36 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ ดังตารางที่ 3


ภาพที่ 3 แสดงลำดับของจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงมากที่สุด ปี 2555 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)


ลำดับ จังหวัดป่วยมากที่สุด อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
1 ภูเก็ต 3303.24
2 ตาก 3255.19
3 ฉะเชิงเทรา 3109.20
4 แม่ฮ่องสอน 2917.96
5 ปราจีนบุรี 2888.36


ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Diarrhoea (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 21 ต.ค. 2555) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/






เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) Diphtheria
   อ้างใน http://192.168.100.30/boedb/d506_1/ds_wk2pdf.php?ds=02&yr=55

 - http://blog.eduzones.com/pingpong/3793

 - http://www.nurse.cmu.ac.th/hf/nutrition1/diarrhea.htm