HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



โรคระบาด ….. ที่มากับน้ำท่วม








ในช่วงนี้ หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาจากอุทกภัย ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องใช้ ห้องน้ำที่ใช้ในการขับถ่ายและอีกมากมาย รวมไปถึงโรคติอต่ออีกหลายโรคที่ตามมาหลังน้ำท่วม โรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคตาแดง โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคหัด และโรคไข้มาลาเรีย โรคเหล่านี้ที่สำคัญ คือ เชื้อแพร่มากับน้ำ รวมทั้งอาหารที่ไม่สะอาด การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหารได้ เช่น โรคอหิวาตกโรค (Cholera)

อหิวาตกโรค (Cholera)

อหิวาตกโรค หรือโรคอหิวาต์ หรือ โบราณเรียกว่า โรคห่า หรือ โรคลงราก (Cholera) เป็นโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio cho lerae) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของลำไส้เล็ก และส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย (ท้องร่วง) รุนแรง เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมง

เชื้อก่อโรค

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน เชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษ ออกมาทำปฏิ กิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง

การติดต่อ

อหิวาตกโรค เป็นโรคติดต่อรวดเร็ว รุนแรง และก่อการระบาดได้อย่างรวด เร็ว โดยเกิดจากการได้รับเชื้ออหิวาตกโรคซึ่งอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย (ซึ่งแบคที เรียสามารถอยู่ได้นานถึง 7-14 วัน) แล้วปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม จากผิวน้ำในแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ และเมื่อกิน หรือ ดื่ม อาหาร/น้ำ ปนเปื้อนเหล่านี้ จึงก่อการติดโรค นอกจากนั้น อาจพบเชื้ออหิวาตกโรคได้ในอาหารทะเล โดยเฉพาะ หอย ในแพลงตอน/Plankton (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อาศัยอยู่ในน้ำ) และในสาหร่าย ซึ่งเมื่อบริโภค อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อได้

ลักษณะอาการ

อหิวาตกโรค จะมีอาการหลังได้รับเชื้อแล้ว 2-3 ชั่วโมงไปจนถึงประมาณ 5วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับ และความรุนแรงของเชื้อซึ่งมีหลายชนิดย่อยที่มีความรุนแรงโรคต่างกัน โดยอาการสำคัญ คือ ท้องเสียเฉียบพลัน ท้องเสียเป็นน้ำโกรก มีเศษอุจจาระปนได้เล็กน้อย อุจจาระมีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว และมีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา อาจร่วมกับมี คลื่นไส้อาเจียนหรือไม่ก็ได้ และมักไม่มีไข้ เป็นต้น

การรักษา

การให้น้ำและเกลือแร่อย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเมื่อรุนแรง จะส่งผลให้โคม่า และเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งบ่อยครั้งการรักษาให้น้ำและเกลือแร่จำเป็นต้องให้ในโรง พยาบาลโดยเป็นผู้ป่วยใน และแพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ เพราะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น และที่สำคัญ ช่วยฆ่าเชื้อในอุจจาระ จึงลดโอกาสโรคติดต่อไปสู่ผู้อื่น และโอกาสระบาดของโรค

สถานการณ์อหิวาตกโรคในปัจจุบัน

จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Diphtheria (ตั้งแต่วันที่ 1มค 2555 - 1 กย 55) พบผู้ป่วย 29 ราย จาก 10 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 0.05 ต่อแสนประชากร ไม่พบผู้เสียชีวิต พบภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ 0.12 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 0.08 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 0.03 ต่อแสนประชากร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.00 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 จำนวนผู้ที่ป่วยจากโรคอหิวาตกโรค (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) ปี2555 จำแนกตามภาค

ภาค อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
  เหนือ   0.12
  ใต้   0.08
  กลาง   0.03
  อีสาน   0.00



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Cholera (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 3 ก.ย. 2555) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/



ในส่วนของระดับจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ตาก (2.50 ต่อแสนประชากร) ยะลา (1.04 ต่อแสนประชากร) ระนอง (0.55 ต่อแสนประชากร) ตราด (0.45 ต่อแสนประชากร) และภูเก็ต (0.30 ต่อแสนประชากร) ดังตารางที่ 2


ตารางที่ 2 แสดงลำดับของจังหวัดที่พบผู้ป่วยจากโรคอหิวาตกโรคมากที่สุด ปี 2555 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)

ลำดับ จังหวัดป่วยมากที่สุด อัตราป่วย (ต่อแสนประชากร)
  1   ตาก  2.50
  2   ยะลา  1.04
  3   ระนอง  0.55
  4   ตราด  0.45
  5   ภูเก็ต  0.30



ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Cholera (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 – 3 ก.ย. 2555) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/



การป้องกัน

- การป้องกันอหิวาตกโรคที่สำคัญ คือ

- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ

- ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง

- กินแต่อาหารปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารทะเล

- ผัก ผลไม้ต้องล้างให้สะอาด


ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค เป็นวัคซีนชนิดกิน ที่ต้องกินอย่างน้อย 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ และภูมิคุ้ม กันจะเกิดขึ้นพอเพียงประมาณ 1 สัปดาห์หลังได้วัคซีนครบ และต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก 6 เดือน-2 ปี ขึ้นกับอายุ ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำการได้รับวัคซีน เฉพาะในประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ เฉพาะในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง คือ เด็ก และผู้ป่วยโรคเอดส์ ส่วนสหรัฐอเมริกา แนะนำวัคซีน เฉพาะในผู้จะไปท่องเที่ยวในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้เป็นประจำ ในประเทศไทย การใช้วัคซีนตัวนี้ ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้น เมื่อผู้อ่านสนใจ ควรปรึกษาแพทย์







เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. ระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) Diphtheria

   อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/boedb/d506_1/ds_wk2pdf.php?ds=01&yr=55

 - http://www.bumrungrad.com/cancerstory1/