HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



งดเหล้า เข้าพรรษา…...ช่วงเวลามหากุศล








ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้การสนับสนุนและร่วมกันรณรงค์ งดเหล้า เข้าพรรษา เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตัวให้อยู่ในศีลในธรรมแล้ว ยังเป็นโอกาสเริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ในชีวิต มอบความสุขแด่คนในครอบครัว รวมไปถึงบุคคลรอบข้างและสังคม งดงานสังสรรค์เพื่อได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ยังไม่เพียงแต่เท่านั้น การลด ละ เลิก จากการดื่มสุรา ยังช่วยให้บุคคลนั้นมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นอีกด้วย

ในปัจจุบันปัญหาการติดสุราและการดื่มสุรา เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 12-19 ปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิเช่น ความสนใจในการเรียนลดลง สมาธิลดลง ทำให้อารมณ์หงุดหงิด นิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าว ปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงการทะเลาะวิวาทที่เกิดจากการดื่มสุราจนขาดสติ ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุจากการจราจรที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราในวัยรุ่น ปัจจุบันมีมากขึ้นเรื่อยๆ บางรายรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต ทำให้เกิดความสูญเสียในครอบครัวตามมา

การดื่มสุราของคนไทยในปัจจุบัน

จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2554 จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากร พบว่าในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 53.9 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุราในระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ 17.0 ล้านคน(ร้อยละ 31.5) โดยผู้ชายมีอัตราการดื่มสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 5 เท่า และกลุ่มวัยทำงาน(25-59 ปี) มีอัตราการดื่มสูงกว่ากลุ่มอื่น คือร้อยละ 37.3และมีข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้สูงอายุของไทยยังมีการดื่มสุราสูงถึงร้อยละ 16.6 สำหรับอายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มสุราโดยรวมจะเริ่มดื่มที่อายุ 20.3 ปี ผู้ชายจะเริ่มดื่มเร็วกว่าผู้หญิงคืออายุ 19.4 และ 24.9 ปี ตามลำดับ ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ดื่มสุรา จำแนกตาม เพศ กลุ่มอายุ อัตราการดื่มสุรา
และอายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มสุรา พ.ศ. 2554




ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


เมื่อจำแนกออกตามเพศ จะเห็นได้ว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในช่วงปี 2544-2554 พบว่า อัตราการดื่มสุราของประชากรในปี 2544-2550 มีแนวโน้มลดลง คือจากร้อยละ 32.7 เป็นร้อยละ 30.0 แต่กลับเพิ่มขึ้นในปี 2552(ร้อยละ 32.0) และมีอัตราลดลงเล็กน้อยในปี 2554 (ร้อยละ 31.5) โดยในปี 2554 ผู้ชายมีอัตรา การดื่มสุราสูงกว่าผู้หญิงเกือบ 5 เท่า แต่มีข้อสังเกตว่าผู้หญิงมีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้น จากปี 2552 (ร้อยละ 10.8 เป็น 10.9) ขณะที่ผู้ชายมีอัตราการดื่มลดลง (ร้อยละ54.5 เป็น 53.4) ดังแผนภูมิที่ 1

แผนภูมิ 1  เปรียบเทียบอัตราการดื่มสุราของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ดื่มสุรา
จำแนกตามเพศ พ.ศ. 2544-2554




ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ในปัจจุบันพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่นมีมากกว่าในอดีตเป็นอันมาก โดยเฉพาะการดื่มสุราของผู้หญิงมีแนวโน้มมีเพิ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาจจะมีผลมาจากทัศนคตินี้เริ่มเปลี่ยนไป และดูผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ดื่มเหล้ามากขึ้นในงานสังคมต่าง เหมือนว่าการดื่มเหล้าของผู้หญิงได้รับการยอมรับขึ้นในสังคมปัจจุบัน และจะเห็นได้จากผลสำรวจอายุโดยเฉลี่ยการดื่มสุราอยู่ในช่วง 20.3 ปี นี้เอง

มาดู 10 วิธีง่ายๆ สำหรับเลิกเหล้า ดังนี้

1. ตั้งใจจริง
2. ตั้งเป้าว่าจะเลิกเหล้าเพื่อใคร
3. หยุดทันที!
4. ปรับเปลี่ยนนิสัยการดื่ม
5. ตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณการดื่ม
6.หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ
7. เมื่อมีเวลาว่าง ให้ทำกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์แทนการดื่มสังสรรค์
8. ฝึกปฏิเสธให้เด็ดขาด
9. หาที่พึ่งทางใจรวมถึงหากำลังใจจากคนรอบข้าง
10.ปรึกษาหน่วยงานช่วยเหลือ


*** หากไม่สามารถเลิกเหล้าด้วยตัวเองควรปรึกษาหน่วยงานช่วยเหลือดังต่อไปนี้

สายด่วนยาเสพติด สถานธัญรักษ์ กรมการแพทย์ โทร: 1165

สายด่วนเลิกเหล้า ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา โทร: 1413

โรงพยาบาลและสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ






เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 อ้างใน http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_2-4-7.html