HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย พ.ศ. 2555








โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดอยู่ทุกปีโดยเฉพาะในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น สำหรับประเทศไทยมีการระบาดกระจัดกระจายเป็นครั้งคราว ซึ่งจะพบมากในช่วงฤดูฝน หรือในช่วงที่สภาพอากาศเย็นและชื้น

แม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคติดต่อที่ไม่รุนแรง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปีนี้ก็ทำให้ประชาชนตื่นกลัวกันไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในปีนี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศกัมพูชาแล้วกว่า 60 คน ขณะที่ประเทศไทยเองก็พบผู้ติดเชื้อมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน



สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค

ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วจำนวน 17,656 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 27.79 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในปีนี้มีเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลังถึง 5 ปี (พ.ศ.2550-2554) ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 แสดงจำนวนผู้ป่วยจากโรคมือ เท้า ปาก จำแนกรายสัปดาห์ พ.ศ.2555
เปรียบเทียบ พ.ศ.2554 และค่ามัธยฐานย้อนหลัง (2550-2554)




ที่มา : สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทย พ.ศ.2555 (จากรายงาน 506 ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2555) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/report/20120726_28987493.pdf



จากยอดของผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มที่ป่วยส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมีอัตราป่วยอยู่ที่ 401.21 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ กลุ่มอายุ 5-9 ปี มีอัตราป่วย 35.57 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มอายุ 10-14 ปี มีอัตราป่วย 4.51 ต่อประชากรแสนคน (ดังภาพที่ 2 )




ภาพที่ 2 อัตราผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 25 ก.ค. 2555 จำแนกตามอายุ




ที่มา : สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทย พ.ศ.2555 (จากรายงาน 506 ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2555) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/report/20120726_28987493.pdf



ในจำนวนกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุ 1 ปี ร้อยละ 43.3 รองลงมาคือ เด็กอายุ 2 ปี ร้อยละ 28 เด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 19.38 และเด็กอายุ 4 ปี ร้อยละ 9.11 (ดังภาพที่ 3)




ภาพที่ 3 สัดส่วนของผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 25 ก.ค. 2555 จำแนกตามอายุของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี




ที่มา : สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทย พ.ศ.2555 (จากรายงาน 506 ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2555) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/report/20120726_28987493.pdf



สำหรับสถานที่ที่ผู้ป่วยนิยมเข้ารับการรักษามากที่สุด ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 44.10 (7,786 ราย) คลินิก/โรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 24.73 (4,366) และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 23.31 (4,116 ราย) ดังภาพที่ 4




ภาพที่ 4 สัดส่วนของสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา




ที่มา : สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทย พ.ศ.2555 (จากรายงาน 506 ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2555) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/report/20120726_28987493.pdf



โดยพื้นที่ที่มีผู้ป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคเหนือ 40.89 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ 33.15 ต่อประชากรแสนคน ภาคกลาง 30.70 ต่อประชากรแสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15.53 ต่อประชากรแสนคน (ดังภาพที่ 5) โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา 122.76 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่ เชียงราย 84.52 ต่อประชากรแสนคน ภูเก็ต 74.42 ต่อประชากรแสนคน ระยอง 72.54 ต่อประชากรแสนคน และสุราษฎร์ธานี 68.60 ต่อประชากรแสนคน




ภาพที่ 5 แสดงสัดส่วนผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 25 ก.ค. 2555 จำแนกตามพื้นที่




ที่มา : สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทย พ.ศ.2555 (จากรายงาน 506 ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2555) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/report/20120726_28987493.pdf


โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก โดยพบมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี การติดต่อของโรคนี้มี 2 ช่องทาง คือ การสัมผัสโดยตรง (direct contact) กับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอหรือน้ำจากในตุ่มใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือตามตัว นอกจากนี้ยังเกิดจากการแพร่เชื้อโดยผ่านอุจจาระของผู้ป่วยซึ่งเชื้อจะออกพร้อมกับอุจจาระมากที่สุดในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ในขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรคโดยเฉพาะ แต่แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา นอนพักมากๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ

การป้องกันโรคซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายๆ คือ ผู้ปกครองควรแนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลให้แก่บุตรหลาน เช่น การล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย ก่อนรับประทานอาหาร หรือเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย นอกจากนี้ควรระวังบุตรหลานให้หลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีกับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก

สำหรับผู้ปกครองควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย รวมทั้งหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หลังการช่วยล้างก้นให้แก่เด็กเล็กที่เพิ่งขับถ่าย หรือสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของเด็ก เช่น น้ำมูก และน้ำลาย

นอกจากนี้ผู้ปกครองควรช่วยตรวจดูอาการของบุตรหลานทุกวัน หากมีแผลในปากหลายแผล โดยเฉพาะถ้าเจ็บมากจนทำให้ไม่ค่อยรับประทานอาหาร ใช้แจ้งแก่โรงเรียนเพื่อให้มีการดำเนินการควบคุมโรคที่เหมาะสม และหากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคดังกล่าวให้รีบพาไปพบแพทย์






เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - Siamhealth.net .โรคมือเท้าปากเปื่อย Hand foot mouth syndrome. อ้างใน http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/infectious/hand_foot_mouth/hand_foot_mo.htm

- กรมควบคุมโรค. แนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคมือ เท้า ปาก สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์. อ้างใน www.boe.moph.go.th/files/urgent/handout_HFM.pdf

- สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ประเทศไทย พ.ศ.2555 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/report/20120726_28987493.pdf