HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในปัจจุบัน








โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease; STD) ในอดีตเราเรียกโรคนี้ว่า “กามโรค” (Venereal Disease; VD) เป็นโรคที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ อาทิเช่น โรคเอดส์ หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน เริมที่อวัยวะเพศ หูดข้าวสุก หูดหงอนไก่ หิด ซิฟิลิส โลน พยาธิช่องคลอด เชื้อราในช่องคลอด อุ้งเชิงกรานอักเสบ แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งนี้อาจเนื่องจากมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย การขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง ตลอดจนสถานบริการทางเพศทีมีอย่างแพร่หลาย สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ ยังขาดความรู้ในการป้องกันตัวเองตอนมีเพศสัมพันธ์และนิยมมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นซึ่งเกิดจากการติดเชื้อต่างๆ สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่ม คือ

1.เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดไม่มียารักษา และบางชนิดยังสามารถฝังตัวอยู่และกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ เริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ

2.เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม ท่อปัสสาวะอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ ฯลฯ

3.เกิดจากเชื้ออื่นๆ เช่น พยาธิ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

สาเหตุพวกนี้เกิดจากการมีพฤติกรรมทางเพศแบบเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศได้ง่าย คือ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือหญิงบริการใน 3 เดือนก่อนหน้า ร่วมไปถึงผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่คนใหม่ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ใน 1 ปีที่ผ่านมา และผู้ที่มีคู่ครองอยู่ต่างที่

หากมีอาการเหล่านี้สามารถสงสัยได้ว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

- ในผู้ชาย จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ขาหนีบบวม หรือเป็นฝี เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผล บริเวณอวัยวะเพศ มีเมือกใส หรือหนองไหลออกมา

- ในผู้หญิง จะรู้สึกเจ็บ เสียวท้องน้อย ขาหนีบบวม หรือเป็นฝี เจ็บปวด คันอวัยวะเพศ มีผื่น ตุ่ม แผลบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาวสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในปี 2555

จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทราบว่า ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ อยู่ที่ 18.15 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 11.94 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ อยู่ที่ 8.27 ต่อแสนประชากร และภาคกลาง อยู่ที่ 5.52 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 แผนภูมิแสดงอัตราป่วยต่อแสนประชากร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำแนกตามภาค




หมายเหตุ : ข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 - 9 ก.ค. 2555 พบผู้ป่วย 6615 ราย (ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ) จาก 72 จังหวัด
ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข



จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะทราบว่า จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ จังหวัดอุทัยธานี 53.07 ต่อแสนประชากร จังหวัดพะเยา 42.91 ต่อแสนประชากร จังหวัดตาก 37.14 ต่อแสนประชากร จังหวัดเชียงใหม่ 29.71 ต่อแสนประชากร และจังหวัดสงขลา 29.47 ต่อแสนประชากร ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วย คือ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อ่างทอง ระนอง พังงา


ภาพที่ 2 แผนภูมิแสดงอัตราป่วยต่อแสนประชากร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำแนกตามจังหวัด




หมายเหตุ : ข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 - 9 ก.ค. 2555 พบผู้ป่วย 6615 ราย (ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ) จาก 72 จังหวัด
ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข



วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ หากยังมีเพศสัมพันธ์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยการ


1. ใส่ถุงยางอนามัย หากจะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่ามีเชื้อหรือไม่ เพราะการใส่ถุงยางสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดี แสดงดังตาราง


โรคโรค
    เอดส์    ป้องกันได้ มากกว่า 90%
    ไวรัสตับอักเสบ บี    ป้องกันได้ มากกว่า 90%
    หูดหงอนไก่    ไม่ได้ผลหรือน้อยกว่า 10 %
    หนองในเทียม    ป้องกันได้ 50-90%
    หนองในแท้    ป้องกันได้ มากกว่า 90%
    พยาธิในช่องคลอด    ป้องกันได้มากว่า 90%
    ซิฟิลิส    ป้องกันได้ 50-90%
    โรคเริม    ป้องกันได้ 10-50%
    แผลริมอ่อน    ป้องกันได้ 10-50%



2. รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ

3. ไม่เปลี่ยนคู่นอน ให้มีสามีหรือภรรยาคนเดียว

4.ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังอายุน้อยเนื่องจากมีสถิติว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง

5. ตรวจโรคเป็นประจำทุกปี เพื่อหาเชื้อโรค แม้จะไม่มีอาการใดๆ โดยเฉพาะคู่ที่กำลังจะแต่งงาน

6. เรียนรู้ ศึกษาอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

7. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ง่าย

8. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย

9. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ง่าย







เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖สรุปสถานการณ์ ปี 2555 รายสัปดาห์ (Other STI)

- http://www.boe.moph.go.th/(สำนักระบาดวิทยา)

- http://www.thaigoodview.com/node/93305