HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



โครงสร้างประชากรและตลาดแรงงานไทย








เมื่อไม่นานที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 30 ปี ทำให้ประเทศไทยพบกับวิกฤษเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ทำให้แรงงานจำนวนมากที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ 7 แห่ง (นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, เขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค), บางปะอิน, เขตประกอบการอุตสาห กรรมแฟคตอรี่แลนด์, สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร) บริษัท ห้างร้าน รวมไปถึงโรงงานใหญ่-น้อย นอกนิคมอุตสาหกรรมต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน (อาจจะระยะสั้น หรือระยะยาว) ทำให้นักวิชาการหลายกลุ่มได้พยายามวิเคราะห์โครงสร้างแรงงานของตลาดแรงงานในไทย ว่าอัตราการว่างงานนั้นลดลงหรือเพิ่มขึ้นหรือไม่


สถานการณ์แรงงานไทยในปี พ.ศ. 2555

1. ความต้องการแรงงานลดลง

ผลจากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 พบว่า ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 54.32 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.80 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.4 ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ที่มีงานทำ 38.06 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.56 แสนคน และผู้ที่รองานตามฤดูกาล 4.84 แสนคน นอกนั้นเป็นผู้ที่อยู่นอกแรงงานประมาณ 15.52 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.6 (ดังตารางที่ 1)


ตารางที่ 1 จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำแนกตามสถานภาพแรงงาน


สภาพแรงงาน
2554
ม.ค. ก.พ. มี.ค.
2555
ม.ค. ก.พ.
      ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
53.76 53.81 53.85
54.28 54.32
      1.ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน
38.06 38.08 38.43
38.62 38.80
      1.1 ผู้มีงานทำ
37.42 37.55 37.81
37.92 38.06
      1.2 ผู้ว่างงาน
0.37 0.27 0.28
0.32 0.26
      1.3 ผู้ที่รอฤดูกาล
0.27 0.26 0.34
0.38 0.48
      2.ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน
15.70 15.73 15.42
15.66 15.52



ที่มา : สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร (เดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2555) สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2554 กับ 2555 พบว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดเท่ากัน ร้อยละ 0.2 ส่วนภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในขณะที่ภาคกลางและภาคใต้มีอัตาการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 เปรียบเทียบจำนวนและอัตราการว่างงาน
จำแนกตามภาค เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 กับ 2555




ที่มา : สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร (เดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2555) สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


2. ระดับการศึกษาของผู้ว่างงาน

เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2554 กับ 2555 พบว่า ผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดร้อยละ 0.3 รองลงมาคือ ระดับอุดมศึกษาลดลงร้อยละ 0.2 ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในขณะที่ผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษามีอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนและอัตราการว่างงาน จำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 กับ 2555




ที่มา : สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร (เดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2555) สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


3. สาขาอาชีพของกลุ่มผู้มีงานทำ

ผู้มีงานทําทั้งสิ้น 37.92 ล้านคน โดยเป็นการทํางานในอุตสาหกรรมการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ มากที่สุด 6.17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.27 ของผู้มีงานทํารวมทั้งหมด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิต 5.86 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.45 อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 2.40 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.33 อุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.33 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 6.15 การบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการสังคมภาคบังคับ 1.74 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 4.59 ที่เหลืออยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 เปรียบเทียบผู้มีงานทำตามอุตสาหกรรมที่สำคัญ
เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 กับ 2555




ที่มา : วารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ฉบับเดือนกุมพาพันธ์ 2555 กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน


4. ความต้องการของแรงงาน

จากสถิติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า แรงงานที่นายจ้างต้องการอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 3,681 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 73.08 เป็นต้น (ดังภาพที่ 4 )โดยอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ อาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้า และตลาด 1,877 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 37.27 รองลงมาคือ อาชีพผู้บริหาร ผู้จัดการ และช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 1,009 อัตรา และ 952 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 20.04 และร้อยละ 18.90 ตามลำดับ


ภาพที่ 4 ปรียบเทียบความต้องการแรงงาน จําแนกตามอุตสาหกรรม
เดือนมกราคม ปี 2554 และ ปี 2555




ที่มา : วารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ฉบับเดือนกุมพาพันธ์ 2555 กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน



เรียบเรียงโดย :  ธัญญรัตน์ เกิดสุวรรณ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : - กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน. วารสารสถานการณ์ตลาดแรงงาน ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555 กองวิจัยตลาดแรงงาน อ้างใน http://lmi.doe.go.th/lmicenter/index.php?mod=document&cid=2

- สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. สรุปผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร (เดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2555) อ้างใน http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/themes/theme_2-2-1.html