HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ชีวิตผู้ใช้แรงงานหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท








เป็นเวลาเกือบปีที่ผู้ใช้แรงงานต่างลุ้นกันว่า ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทนั้นจะมีการปรับขึ้นได้จริงหรือไม่ จนกระทั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท โดยเริ่มจาก 7 จังหวัด ได้แก่ ท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่เหลืออาจใช้มาตรการขึ้นค่าแรงจากฐานเดิม 40% โดยจะทยอยขึ้นค่าแรงให้ได้ทั่วทั้งประเทศ 300 บาทให้ได้ภายในปี 2556

แม้ว่านี่จะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย แต่ผู้ใช้แรงงานก็ยังมีความกังวลต่างๆ นานาอีกว่า ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นมานี้ จะทำให้อนาคตของผู้ใช้แรงงานจะดีขึ้นจริงหรือไม่ ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระจนกระทั่งเลิกจ้างตนหรือไม่ หรือจะถูกแรงงานต่างชาติแย่งงานเพราะผู้ประกอบการน่าจะหันไปจ้างแรงงานเหล่านี้ซึ่งค่าจ้างถูกกว่าหรือไม่

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์) ได้ทำการสำรวจ “ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,180 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานอีกร้อยละ 39.3 เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 ความเห็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้



ที่มา : ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์)

ส่วนในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 ความเห็นต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน



ที่มา : ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์)

เมื่อถามต่อว่ากังวลมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่อาจจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ร้อยละ 51.4 ระบุว่า “ไม่กังวลเลย” ขณะที่ร้อยละ 31.1 ระบุว่า “กังวลมากถึงมากที่สุด” และร้อยละ 17.5 ระบุว่า “กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด”


ภาพที่ 3 ความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาแย่งงานคนไทย



ที่มา : ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์)



ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน พบว่า อันดับแรก คือ สวัสดิการ (ร้อยละ 32.3) รองลงมาคือ ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน (ร้อยละ 29.7) และดูแลคุณภาพชีวิต (ร้อยละ 14.9) (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน



ที่มา : ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์)

การขึ้นแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญของผู้ใช้แรงงาน แต่การขึ้นค่าจ้างแรงงานมากถึง 300 บาทต่อวันก็ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ว่าการขึ้นแรงงานไม่ได้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานดีขึ้นหรือมีหนี้ลดลง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผยข้อมูลว่า ร้อยละ 79.1 ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานระบุว่ามีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมา โดยหนี้สินเกิดจากการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวันมากที่สุด รองลงมาเป็นกู้เพื่อซื้อยานพาหนะ ซื้อที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล และลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ใช้แรงงานมากถึง 63.9% ระบุว่ายังมีเงินออม แต่เป็นจำนวนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่การสำรวจปี 52 ที่ผู้ใช้แรงงานมากถึง 95% ระบุมีเงินออม แสดงว่า ผู้ตอบก่อหนี้เพิ่ม ไม่มีเงินเหลือเก็บ และบางส่วนนำเอาเงินออมมาใช้จ่าย ดังนั้นหากมีการปรับค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นแต่ค่าครองชีพไม่ได้ลดลง ความหวังที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีคงเป็นเรื่องยาก นี่คือ ความจริงที่ผู้ใช้แรงงานต้องประสบปัญหาอยู่ทุกวัน




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : - กระทรวงแรงงาน. ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๖).
  อ้างใน http://www.mol.go.th/sites/default/files/downloads/pdf/wage_Issue6_55_0.pdf

- ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพโพลล์). ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

- ครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. โพลล์ระบุแรงงานไทยหนี้พุ่งกว่า 9 หมื่นบาท/หัว ปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ช่วย
  อ้างใน http://www.thailabour.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=1881&auto_id=8&TopicPk=