HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ถอดบทเรียนอุบัติภัยทางถนน หลังเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2554



การเฝ้าระวังสถานการณ์อุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปีพ.ศ. 2554 นี้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนด้วยวิธีการต่างๆ อาทิเช่น การพยายามปลุกพลังมวลชนให้เป็นผู้มีวินัยจราจร และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุผ่านการใช้มาตรการ 3ม. 2ข. 1ร. (มอเตอร์ไซด์ปลอดภัย, สวมหมวกนิรภัย, เมาไม่ขับ, ใบอนุญาตขับขี่, เข็มขัดนิรภัย และความเร็วไม่เกินกำหนด) การขอความร่วมมือให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตรวจสภาพของรถก่อนการเดินทาง และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างทันท่วงที การเตือนเรื่องจุดเสี่ยงที่เกิดอันตรายหรือบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยทางถนน ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เพื่อวิเคราะห์ ประเมินผล และวางแนวทางในการป้องกันอุบัติเหตุต่อไป

หลังการเฉลิมฉลองต้อนรับปีกระต่ายไฟในปีนี้ เราได้บทเรียนและบทสรุปจากความพยายามของหลายฝ่ายที่ร่วมมือร่วมใจกันหาทางป้องกันอุบัติเหตุในช่วงต้นปี ดังนี้

การเกิดอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บลดลง แต่ตายเพิ่มขึ้น

สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย (29 ธันวาคม 2553 - 4 มกราคม 2554) ในปีนี้มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้นจำนวน 3,497 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2553 (3,534 ครั้ง) มีจำนวนลดลงมา 37 ครั้ง หรือ ร้อยละ1.05 โดยจังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับได้แก่ จังหวัดพิษณุโลกและเชียงราย จำนวน 122 ครั้ง รองลงมาได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 112 ครั้ง และจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 110 ครั้ง

ส่วนยอดผู้บาดเจ็บในปีนี้มีทั้งหมด 3,750 คน เทียบกับปี 2553 (3,827 คน) มีจำนวนลดลง 77 คน หรือ ร้อยละ 2.01 โดยจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จำนวน 131 คน รองลงมาได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 127 คน และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 124 คน

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนทั้งสิ้น 358 ราย เทียบกับปี 2553 (347 ราย) ปรากฎว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 11 ราย หรือร้อยละ 3.17 โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับได้แก่ จังหวัดลพบุรี จำนวน 13 ราย ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 12 ราย และจังหวัดนครราชสีมา ราชบุรี และสุรินทร์ มีจำนวนเท่ากันคือ 11 ราย

สุรา คือ ต้นเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์งดเหล้าเข้าปีใหม่โดยใช้มาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางสังคม แต่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการเมาสุรา ร้อยละ 41.24 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.42 มอเตอร์ไซต์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 16.56 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 14.76 (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 อัตราการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
ระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2550


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

และเมื่อเปรียบเทียบสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่กับปีที่ผ่านๆ มาจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย นั่นคือ สุรายังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างปี 2553 และ2554


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

พฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่

1. มาตรการสวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยได้ผลดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่รถมอเตอร์ไซต์หรือการใช้รถยนต์ในการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้พาหนะดังกล่าวที่เหมือนกับ “เนื้อหุ้มเหล็ก หรือเหล็กหุ้มเนื้อ” ด้วยเหตุนี้เข็มขัดนิรภัยและหมวกนิรภัยจึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญซึ่งถูกออกแบบมาคู่กับการใช้รถ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

เป็นที่น่ายินดีที่มาตรการรักษาความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศการปีใหม่ในปีนี้ ได้รับการตอบสนองที่ดีขึ้น จากการติดตามสถิติการไม่สวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ระหว่างปีพ.ศ. 2553 กับปีพ.ศ. 2554 พบว่า ประชาชนให้ความใส่ใจต่อการสวมหมวกนิรภัยและการคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้น กล่าวคือ สถิติการไม่สวมหมวกนิรภัยมีสัดส่วนลดลง จากเดิม ร้อยละ 2.30 ในปี 2553 ลดลงเหลือร้อยละ 2.22 ในปี 2544 นอกจากนี้สัดส่วนการไม่สวมหมวกนิรภัยก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน จากเดิม ร้อยละ 30.23 ในปี 2553 ลดลงเหลือ ร้อยละ 27.53 ในปี 2554 (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 และ 2554


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

2. มอเตอร์ไซต์ คือ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

ในบรรดายานพาหนะที่ใช้บนท้องถนนประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุเกินครึ่ง ได้แก่ รถมอเตอร์ไซต์ (83.24%) รองลงมา คือ รถปิกอัพ (7.70%) และรถเก่ง (3.28%) ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเดียวกันระหว่างปี 2553 กับปี 2554 พบว่า รถมอเตอร์ไซต์ รถบรรทุกประเภท 6 ล้อ และรถโดยสารประเภท 4 ล้อ เป็นประเภทรถที่มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่น (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 เปรียบเทียบประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างปี 2553 และ 2554


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

3. ทางหลวงแผ่นดิน คือ ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดในช่วงเทศกาล

ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.15 รองลงมา คือ ถนนอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.74 ถนนในเมือง/เทศบาล ร้อยละ 14.47 และทางหลวงชนบท ร้อยละ 13.1 (ดังภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

4. ทางตรง คือ จุดเสี่ยง

จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล คือ ทางตรง ร้อยละ 58.39 รองลงมาคือ ทางโค้ง ร้อยละ 19.79 และทางแยก ร้อยละ 12.53 (ดังภาพที่ 6)


ภาพที่ 6 จุดเกิดเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

5. 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม คือ ช่วงเวลาที่อันตราย

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ 16.01-20.00 น. ร้อยละ 29.94 รองลงมาคือ 12.01-16.00 น. ร้อยละ 18.13 และ 20.00-00.00 น. ร้อยละ 17.70 น. โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุดได้แก่ 04.01-08.00 น. ร้อยละ 7.21 (ดังภาพที่ 7 )


ภาพที่ 7 ช่วงเวลาที่เกิดเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

6. วัยแรงงาน คือ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงเทศกาล

ช่วงอายุของผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้แก่ กลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 58.03 รองลงมาคือ กลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 24.78 และกลุ่มคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.19 (ดังภาพที่ 8)


ภาพที่ 8 ช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต


ที่มา :สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่งอ้าง.

คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม คือ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดอุบัติเหตุ จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้การเกิดอุบัติเหตุจะมีน้อยลง แต่การฝ่าฝืนกฎหมายมีมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดื่มสุรา การขับขี่รถเร็วเกินกำหนด การขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย และการตัดหน้ากระชั้นชิด ทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากความประมาณของคน

แม้อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา แต่เราก็สามารถช่วยกันป้องกันได้โดยการสร้างวินัย และวัฒนธรรมในการขับขี่ที่ปลอดภัย เพราะเราทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคงไม่อยากให้ตนเองและคนที่เรารักต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้ ดังคำที่กล่าวไว้ว่า “อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท”



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ

แหล่งที่มา :

 - ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. สรุปผลการ ดำเนินการตามมาตรการ (3ม 2ข 1ร+4) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 (29 ธันวาคม 2553 – 4 มกราคม 2554) ประจำวันที่ 4 มกราคม 2554. จำนวน 3 หน้า. อ้างใน http://www.roadsafety.disaster.go.th/newyear2554/main_protect_n2554.html

 - ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย. หมวกนิรภัยเหตุใดจึงสำคัญนัก. จำนวน 1 หน้า . อ้างใน http://www.tarc.ait.ac.th/download/article/helmet_th.pdf

 - ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย. เข็มขัดนิรภัย ช่วยชีวิตได้จริงหรือ?. จำนวน 1 หน้า. อ้างใน http://www.tarc.ait.ac.th/download/article/seatbelt_th.pdf