HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



“ของเล่นเด็ก” อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม








ของเล่นมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สมาธิ สติปัญญา และช่วยต่อยอดความคิด เสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็กๆ ได้ดี แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย คือ เรื่องของความปลอดภัยจากของเล่นเด็ก เพราะของเล่นที่ดูไม่น่าจะทำร้ายใครได้นั้นอาจจะนำอันตรายที่คาดไม่ถึงมาสู่เด็กๆ ได้เช่นกัน


สารอันตรายที่เจือปนอยู่ในของเล่น

ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการสำรวจของเล่นในจังหวัดต่างๆ ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและตลาดทั่วไป จำนวน 173 ตัวอย่าง พบของเล่นเด็กที่มีระดับสารตะกั่วสูงกว่าความปลอดภัยตามมาตรฐานกำหนดจำนวน 31 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของของเล่นที่ตรวจสอบ (ดังตารางที่ 1) ซึ่งของเล่นทั้ง 31 รายการที่มีอันตรายนี้ มีทั้งของเล่นที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และของเล่นที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. เช่น หน้ากากมาร์คไรเดอร์ มีระดับค่าตะกั่วรวม 24,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 6,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 40 เท่า รถแข่งขนาดเล็ก ระดับค่าตะกั่วรวม 15,200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ลูกบอลพลาสติก ระดับค่าตะกั่วรวม 3,397 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเกมตกปลาพลาสติก พบสารแบเรียม 1,099 มิลลิกรัม/กิโลกรัม


ตารางที่ 1 แสดงจำนวนของเล่นที่มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน
กำหนดแบ่งตามเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรรมและพื้นที่สุ่มตัวอย่าง



ที่มา : รายงานโครงการ ตรวจสอบสารโลหะหนักในของเล่น. โครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยในการเล่นเด็กและสนามเด็กเล่นระดับชาติ อ้างใน  http://www.thaisafeplay.csip.org/toyt.html


สารโลหะหนักเหล่านี้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบของสี สารเคลือบเงา และใช้เป็นวัสดุที่ผลิตของเล่นสำหรับเด็ก โดยอันตรายจากสารเคมีเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและ IQ ของเด็ก มีพิษต่อผิวหนัง ทำลายระบบประสาท และกล้ามเนื้อ

ทั้งนี้เมื่อจำแนกประเภทของสารโลหะหนักที่มีปริมาณมากที่สุดในของเล่นต่างๆ พบ สารตะกั่วซึ่งสามารถทำลายระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย และยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็ก มากถึงร้อยละ 90.32 รองลงมาคือ โครเมี่ยมซึ่งสามารถทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นมะเร็งที่ปอด และทำให้ผิวหนังอักเสบ ร้อยละ 58.06 นอกจากนี้ยังมีสารปรอท แร่พรวง แคดเมี่ยม และแบเรี่ยม (ดังตารางที่ 2)


ตารางที่ 2 ประเภทของสารโลหะหนักที่มีระดับเกินกว่ามาตรฐานในของเล่นที่ตรวจพบจำนวน 31 ชิ้น



ที่มา : รายงานโครงการ ตรวจสอบสารโลหะหนักในของเล่น. โครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยในการเล่นเด็กและสนามเด็กเล่นระดับชาติ อ้างใน  http://www.thaisafeplay.csip.org/toyt.html


คุณสมบัติของสารพิษที่มีผลกระทบต่อร่างกายของเด็ก

1. โลหะหนักบางชนิด เช่น แคดเมียมจะทำลายตับ ไต ระบบประสาท กระดูก ทำให้ปวดกระดูก และไตวายได้

2. สารทำละลายอินทรีย์หรือตัวทำละลาย เป็นส่วนประกอบของกาว แลกเกอร์ สีที่ใช้พ่นทา สารชนิดนี้มีกลุ่นฉุน มีพิษทำให้ระคายเคือง ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และเนื้อเยื่ออ่อน และมีพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งสมอง ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้ความจำเสื่อมอารมณ์แปรปรวน สารทำละลายอินทรีย์บางชนิดจะทำให้โลหิตจาง และบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

3. สารเคมีกำจัดแมลงและสารเคมีกำจัดเชื้อรา มีโอกาสพบในของเล่นที่ผลิตด้วยวัสดุที่ทำจากไม้ เนื่องจากใช้สารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา สารชนิดนี้จะมีผลทำลายสมอง ระบบประสาท มีผลต่อการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง

4. พาทาเลต เป็นส่วนประกอบในวัสดุที่เป็นพลาสติกชนิดอ่อน สารนี้มีผลทำลายระบบสืบพันธุ์ สมองและระบบประสาท

5. สารเคมีผสมในอาหาร เนื่องจากในปัจจุบันนี้ของเล่นเด็กหลายชนิดมักมีการผลิตเป็นภาชนะที่บรรจุขนมด้วย เพื่อจูงใจเด็กให้นิยมซื้อ เพราะจะได้ทั้งของที่รับประทานได้และได้ของเล่นด้วย ดังนั้นจึงต้องระวังสารเคมีเจือปนในขนมเหล่านี้ ทั้งจากสารเคมีจากภาชนะบรรจุเป็นของเล่นและสารเคมีที่เจือปนในขนม ตัวอย่างสารเคมีที่อาจพบเจือปนในขนมที่อยู่ในรูปของของเล่น ได้แก่ สารเคมีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และสารเคมีที่เป็นสารถนอมอาหาร สารเคมีที่ทำให้เกิดรสเผ็ด แอลกอฮอล์ และสารโปรตีนเทียม (เมลามีน) ที่อาจผสมในขนมที่มีส่วนผสมของนม ช๊อกโกแล็ต

i. สารถนอมอาหารจะมีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหาร อาจทำลายตับและไตได้

ii. แอลกอฮอล์จะมีฤทธิ์ทำให้มึนเมา เคลื่อนไหวผิดปกติ หายใจหอบ หัวใจเต้นแรง

iii. สารเมลามีน จะมีฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ทำลายตับและไต และอาจเสียชีวิตได้

iv. สารที่ทำให้เกิดรสเผ็ด จะระคายเคืองปาก ลิ้นและลำคอ รู้สึกแสบร้อน


จะเห็นได้ว่าของเล่นมีทั้งคุณและโทษ หากเลือกซื้อของเล่นให้เหมาะสมตามวัยของเด็ก ของเล่นก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้อย่างเต็มที่ แต่การเลือกซื้อของเล่นนั้นเราควรใส่ใจกันอีกสักนิดว่า ของเล่นที่ดูน่ารัก มีสีสรรที่สวยงามนั้น มีความปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ของเรามากพอแล้วหรือไม่



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  - กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สารพิษที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม. อ้างใน http://www.deqp.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=133%3A2010-02-18+7%3A39%3A11&catid=33%3A2010-02-17-23-24-06&lang=th

 - โครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยในการเล่นเด็กและสนามเด็กเล่นระดับชาติ. รายงานโครงการ ตรวจสอบสารโลหะหนักในของเล่น. อ้างใน http://www.thaisafeplay.csip.org/toyt.html