HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
  



ปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาว








อากาศหนาวเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ นั่นคือ เมื่อร่างกายมีอุณภูมิต่ำกว่าปกติจนถึงระดับที่เรียกว่า Hypothermia คือ ร่างกายมีอุณภูมิน้อยกว่า 35 องศาเซลเซียส หรือ 95 องศาฟาเรนไฮด์ ซึ่งการสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นมากๆ จะมีผลต่อระบบสมองและประสาทส่วนกลาง การเต้นของหัวใจผิดปกติ และเกิดภาวะไตวายได้ง่าย

นอกจากนี้อากาศหนาวเย็นยังมีผลต่อระบบความดันโลหิต และการใช้ออกซิเจนที่มากขึ้นโดยพบว่า ระดับความดันโลหิตของคนในช่วงฤดูหนาวจะสูงกว่าในช่วงฤดูร้อน ประมาณ 5 mmHg (มิลลิเมตรของปรอท) และ ร้อยละ 21 เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือด

โดยกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดการเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาวได้ง่าย คือ ผู้สูงวัยที่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ รวมทั้งการดื่มสุราเป็นประจำ ฯ อาการที่พบจากภาวะอากาศหนาวเย็น ได้แก่ เชื่องชา เฉื่อยชา อ่อนเพลีย สูญเสียการรับสัมผัส มึนงง พูดสับสน หนาวสั่น ผิวหนังสีซีด เป็นต้น ซึ่งอาการต่างๆ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะอุณหภูมิที่ต่ำลง


ย้อนรอยสาเหตุการเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาว

จากรายงานการเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – เดือนมกราคม 2554) พบผู้สงสัยว่าเสียชีวิตเนื่องจากสภาพอากาศหนาวทั้งสิ้น 30 ราย โดยมีเพียง 2 รายที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตจากอากาศหนาว เนื่องจากมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ และนอนในช่วงอากาศหนาวเย็นโดยไม่สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพียงพอที่จะปกป้องอากาศหนาวเย็นได้

ผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นเพศชาย มีอาชีพรับจ้าง อายุเฉลี่ย 49 ปี ต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 79 ปี กลุ่มอายุที่มีการเสียชีวิตสูงสุด คือ อายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 30.1 และระหว่าง 50-59 ปี ร้อยละ 20 (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 แสดงร้อยละผู้เสียชีวิตที่สงสัยเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
จำแนกตามกลุ่มต่างๆ ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – เดือนกุมภาพันธ์ 2554


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวในประเทศไทย เดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/report.pdf

สถานที่เสียชีวิตโดยร่วมส่วนใหญ่ คือ นอกบ้าน อาทิ สวนสาธารณะ ป่าละเมาะ ข้างกองไฟ กระท่อม กลางทุ่งนา ข้างกำแพงฯ ร้อยละ 60 รองลงมาคือ เสียชีวิตที่บ้าน ร้อยละ 40 โดยหากจำแนกสถานที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด พบว่าคือ ในบ้าน ร้อยละ 36.7 รองลงมา คือ สวนสาธารณะ ร้อยละ 33.3 และในกระท่อมที่พัก ร้อยละ 13.3 (ภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 ร้อยละของผู้เสียชีวิตที่สงสัยเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
จำแนกตามสถานที่เสียชีวิตระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - มกราคม 2554


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวในประเทศไทย เดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/report.pdf

ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตที่มีประวัติการดื่มสุราส่วนใหญ่จะเสียชีวิตนอกบ้าน ได้แก่ สถานที่สาธารณะ รถโดยสาร กระท่อม ป่าละเมาะ ข้างกองไฟ กลางท้องนา ข้างกำแพงและอื่น ๆ ร้อยละ 66.7 และเสียชีวิตในบ้านพัก ร้อยละ 33.3 (ภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 ร้อยละของผู้เสียชีวิตที่สงสัยเนื่องจากภาวะอากาศหนาวที่มีประวัติการดื่มสุรา
จำแนกตามสถานที่เสียชีวิต ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - มกราคม 2554


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวในประเทศไทย เดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/report.pdf

ปัจจัยและพฤติกรรมที่สำคัญของการเสียชีวิต ได้แก่ สวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอที่จะป้องกันอากาศหนาว ร้อยละ 83.3 รองลงมา คือ การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 60 (ในจำนวนนี้รวมผู้เสียชีวิตเพราะการดื่มสุราร่วมกับมีโรคประจำตัว ร้อยละ 26.7 และดื่มสุราแต่ไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 33.3) โรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 53 (ในจำนวนนี้รวมจำนวนนี้รวมผู้เสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัวร่วมกับดื่มสุรา ร้อยละ 26.7 และมีโรคประจำตัวแต่ไม่ดื่มสุรา ร้อยละ 26.3) และมีประวัติการใช้ยาชูกำลังและสารเสพติดอีกร้อยละ 10 (ภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 ร้อยละของผู้เสียชีวิตที่สงสัยเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
จำแนกตามปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยง ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - มกราคม 2554


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวในประเทศไทย เดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/report.pdf

ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว ร้อยละ 53 นั้น พบว่า กลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงสภาวะอากาศหนาวมากขึ้น ได้แก่ หัวใจ ลมชัก มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตเท่ากัน ร้อยละ 10 รองลงมา คือ โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง พิการทางสมอง และปวดเมื่อย มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตเท่ากัน ร้อยละ 6.7 โดยอุบัติเหตุ และโรคตับ/พิษสุรา มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตเท่ากัน ร้อยละ 3.3 และเสียชีวิตโดยไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 46.7 (ภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 ร้อยละของผู้เสียชีวิตที่สงสัยเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
จำแนกตาม โรคประจำตัว ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - มกราคม 2554


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวในประเทศไทย เดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/report.pdf

ดังนั้นการป้องกันภาวะอากาศหนาวเย็นในปีนี้จึงควรให้ความสำคัญกลุ่มเสี่ยง จัดหาเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ อยู่อาศัยให้ที่ที่เหมาะสม และที่สำคัญควรงดการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราในปริมาณมากจะทำให้ง่วง หมดสติไปโดยไม่รู้ตัวได้ หากอยู่ในที่มีอากาศหนาวเย็นยิ่งอันตราย ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาว่ามีผู้เสียชีวิตที่มีประวัติการดื่มสุราเสียชีวิตจากความหนาวทุกปี



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา :  แสงโฉม ศิริพานิช และคณะ. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานการเฝ้าระวังการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวในประเทศไทย เดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2554 อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/report.pdf