HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



วงจรของโรคระบาดในช่วงฤดูหนาว








เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวนอกจากการดูแลตนเองโดยการสวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นแล้ว สิ่งที่ต้องพึ่งระวังคือ กลุ่มโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เพราะในช่วงที่อากาศเย็นเป็นเวลาที่เอื้อต่อการอยู่รอดและแพร่กระจายของไวรัส จากสถิติผู้ป่วยจากในโรคฤดูหนาวที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2552-ก.พ.2553 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ รวม 541,650 ราย โดยโรคที่เป็นมากที่สุด คือ โรคอุจจาระร่วง 438,148 ราย รองลงมาคือ ปอดบวม 51,464 ราย ไข้หวัดใหญ่ 30,828 ราย ที่เหลือเป็นโรคสุกใส โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน มีผู้เสียชีวิตรวม 381 ราย จากโรคปอดบวมมากที่สุด 340 ราย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์ของโรคที่พึ่งต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว โดยนำข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคในแต่ละเดือนตลอดทั้งปีตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2553 มาเปรียบเทียบกันพบวงจรของโรคที่มักจะมีการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาวของทุกปีดังนี้


1. ไข้หวัดใหญ่

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมของทุกปีมักเป็นช่วงที่มี่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยจะพบผู้ป่วยเพียง 1,000 – 2,000 รายต่อเดือน แต่จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม-กันยายน) 15,000 – 30,000 กว่ารายต่อเดือน และจะพบผู้ป่วยมากอีกช่วงในฤดูหนาว (ธันวาคม-มกราคม) แต่ไม่ระบาดมากเท่าในฤดูฝน (ดังภาพที่ 1 )


ภาพที่ 1 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำแนกรายเดือน ประเทศไทย ปี 2552-2553 และค่ามัธยฐานย้อยหลัง 5 ปี


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปีที่ 41 ฉบับที่ 44 “โรคที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว”. อ้างใน http://203.157.15.4/Annual/aesr2553/Open.html

อาการของโรคและการดูแลรักษา โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส

• อาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน พบมากที่สุดในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาวเช่นกัน กลุ่มอายุที่พบ มักเป็นกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

• การดูแลรักษา ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

• การป้องกัน ควรทำร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่นอยู่เสมอ


2. ปอดอักเสบ

ลักษณะการระบาดตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ พบผู้ป่วยมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม –กันยายน ซึ่งเป็นฤดูฝน และจะสูงขึ้นอีกครั้งในฤดูหนาว คือ เดือนธันวาคม-มกราคม (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ จำแนกรายเดือน ประเทศไทย ปี 2552-2553 และค่ามัธยฐานย้อยหลัง 5 ปี


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปีที่ 41 ฉบับที่ 44 “โรคที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว”. อ้างใน http://203.157.15.4/Annual/aesr2553/Open.html

อาการของโรคและการดูแลรักษา เกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด

• อาการ ไข้ ไอ เสมหะมาก แน่นหน้าอกเหมือนหายใจไม่ออก หอบ หายใจเร็ว มักพบตามหลังไข้หวัดเรื้อรังหรือรุนแรง หรือโรคหลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคหอบหืด

• พบมาก ที่สุดในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาว เช่นกัน กลุ่มอายุที่พบมากคือ อายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ

• การดูแลรักษา ลูกหลานและญาติที่ป่วยเป็นไข้หวัดหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยไปพบแพทย์ในเบื้องต้น และถ้าอาการยังไม่ทุเลา ก็ควรไปพบแพทย์ซ้ำ เพื่อติดตามการรักษาต่อไป การดูแลอื่นๆ ได้แก่ การทำร่างกายให้อบอุ่น การดื่มน้ำอุ่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหายใจรับเชื้อเข้าไป สำหรับบุคคลทั่วไป เวลาไอ จาม ควรมีผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก จมูก ด้วยทุกครั้ง และหมั่นล้างมือ


3. โรคหัด

มักพบการระบาดเมื่อเข้าฤดูหนาวมาในระยะเวลาหนึ่ง (เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนานกว่าโรคหวัด คือ 8-12 วัน) มักพบผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และอาจมีการระบาดต่อเนื่องในกลุ่มประชากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีน เช่น ต่างด้าว ชาวเขาตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2553 นี้ จะไม่พบผู้ป่วยมากนักเนื่องจากการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นปี ยังไม่พบการระบาดใหญาและจำนวนรายงานผู้ป่วยน้อยที่สุดในรอบ 5 ปี (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคหัด จำแนกรายเดือน ประเทศไทย ปี 2552-2553 และค่ามัธยฐานย้อยหลัง 5 ปี


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปีที่ 41 ฉบับที่ 44 “โรคที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว”. อ้างใน http://203.157.15.4/Annual/aesr2553/Open.html

อาการของโรคและการดูแลรักษา โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางลมหายใจ ภาคกลางพบผู้ป่วยมาก

• อาการ มีไข้สูง ไอมาก ตาแดง หรือน้ำมูกไหล และมีผื่นแดงตามตัว โดยขณะที่ผื่นขึ้นนั้นยังมีไข้สูงอยู่ และอาจเกิดโรคแทรกได้ เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ขาดสารอาหารหรือเด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

• พบมาก ช่วงฤดูหนาว โดยเพิ่มสูงมากเดือนมกราคมจนถึงมีนาคมของทุกปี โรคนี้มักพบในเด็ก วัยต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุ 5-9 ขวบ และ ที่พบบ่อยคือกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน หรือได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว

• การดูแลรักษา ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา กินยาลดไข้ รักษาตามอาการ

• การป้องกัน การฉีดวัคซีนในเด็กวัย 9-12 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ


4. โรคหัดเยอรมัน

พบผู้ป่วยมากในเดือนมิถุนายน (ฤดูฝน) และมกราคม –กุมภาพันธ์ คือ เมื่อเข้าฤดูหนาวมาระยะหนึ่งจนถึงปลายหนาว เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนานมากคือ เฉลี่ย 18 วัน และมักพบการระบาดในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนในวัยเด็กที่มารวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน จำแนกรายเดือน ประเทศไทย ปี 2552-2553 และค่ามัธยฐานย้อยหลัง 5 ปี


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปีที่ 41 ฉบับที่ 44 “โรคที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว”. อ้างใน http://203.157.15.4/Annual/aesr2553/Open.html

อาการของโรคและการดูแลรักษา โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการไข้และผื่นทั่วตัว ในเด็กส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

• อาการและอาการแสดง

ในเด็กโต จะเริ่มด้วยต่อมน้ำเหลืองที่หลังหู ท้ายทอย และด้านหลังของลำคอโต และเจ็บเล็กน้อย เด็กโตจะรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว ไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีเจ็บคอร่วมด้วย 1-5 วัน ประมาณวันที่ 3 ผื่นจะขึ้นเป็นสีชมพูจางๆ กระจายอยู่ห่างๆ เป็นแบบ Macular rash เริ่มขึ้นที่หน้าแล้วลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นเห็นชัดเจนบริเวณแขนขา และจะหายไปในเวลา 1-2 วัน และสีผิวหนังจะกลับเป็นปกติ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีไข้สูงกว่าในเด็ก บางรายอาจมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย โดยเฉพาะในผู้หญิง

ทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ จะมีอาการแตกต่างกันแล้วแต่ระยะที่แม่ติดเชื้อ ถ้าแม่เป็นในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1-4 จะพบทารกมีความพิการได้ถึงร้อยละ 30-50 สัปดาห์ที่ 5-8 พบได้ร้อยละ 25 และสัปดาห์ที่ 9-12 พบพิการได้ร้อยละ 8 ความพิการที่พบได้บ่อยคือ ความพิการทางตา (พบเป็น ตาเล็ก ต้อกระจก ต้อหิน) ความพิการที่หัวใจ หูหนวก ความผิดปกติทางสมอง ศีรษะและสมองเล็ก แรกเกิดจะพบมีตับ ม้ามโต มีอาการตัวเหลือง มีจ้ำเลือดตามตัว และเกล็ดเลือดต่ำ อาการผิดปกติเหล่านี้พบได้ในความรุนแรงแตกต่างกัน และอาจพบได้หลายอย่างร่วมกันได้

• การรักษา

ในหญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสโรคหัดเยอรมัน ควรได้รับการตรวจเลือดทันทีเพื่อดูว่าเคยเป็นและมีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันหรือไม่ ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะสำหรับเชื้อหัดเยอรมัน แสดงว่าน่าจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่กรณีตรวจไม่พบแนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง 2-3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจเป็นลบควรตรวจซ้ำอีกครั้ง 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค กรณีที่การตรวจเลือดทั้งสองครั้งให้ผลลบ แสดงว่าผู้ป่วยไม่ติดโรค แต่ถ้าเคยตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่าผู้ป่วยติดโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำแท้งในกรณีที่เด็กอาจมีความพิการแต่กำเนิด

• การป้องกัน

การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้เป็นชนิดไวรัสเชื้อเป็น ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี โดยนิยมให้ในรูปของวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน(MMR) นอกจากการให้วัคซีนป้องกันในเด็กแล้ว สามารถให้วัคซีนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมันทั้งหญิงและชาย ไม่ควรฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ กรณีให้วัคซีนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงเวลา 1 เดือนหลังฉีด

ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการไอให้ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้มือปิดปากและจมูกพร้อมกับล้างมือบ่อยๆ


5. โรคสุกใส

จะพบผู้ป่วยมากในเดือนมกราคม-มีนาคม คือ เมื่อเข้าฤดูหนาวมาระยะหนึ่งจนถึงปลายหนาว เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนาน คือ เฉลี่ย 10 – 20 วัน และมักพบการระบาดในโรงเรียนอนุบาล ประถม และศูนย์เด็กเล็ก (ดังภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 แสดงจำนวนผู้ป่วยโรคสุกใส จำแนกรายเดือน ประเทศไทย ปี 2552-2553 และค่ามัธยฐานย้อยหลัง 5 ปี


ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปีที่ 41 ฉบับที่ 44 “โรคที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว”. อ้างใน http://203.157.15.4/Annual/aesr2553/Open.html

อาการของโรคและการดูแลรักษา โรคสุกใสเกิดจากเชื้อไวรัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมาก

• อาการ ไข้ปานกลาง มีตุ่มใส และมีตุ่มหลายระยะ ในเวลาเดียวกัน ขึ้นที่หน้า ลำตัว แขน ขา และโดยเฉพาะเด็ก ถ้าเป็นในช่องปาก อาจทำให้ดูดนม หรือ กินอาหารได้น้อย

• พบมาก ช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมทุกปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุ 5-9 ขวบ

• การดูแลรักษา ให้รักษาตามอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการป่วยในเวลาไม่นานและมักจะไม่มีโรคแทรกซ้อน ยกเว้นบางรายที่อาจมีการติดเชื้อโรคซ้ำบริเวณรอยแผลตุ่มใส ทำให้เกิดแผลเป็นได้ • การป้องกัน โรคนี้ติดต่อได้ค่อนข้างง่ายจากการสัมผัส แต่ถ้าคนที่เคยป่วยแล้ว จะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิต (ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว แต่ยังมีราคาแพง)



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : หมอชาวบ้าน. โรคในฤดูหนาว. http://www.doctor.or.th/node/4046

พิมพ์ภา เตชะกมลสุข และคณะ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 41 ฉบับที่ 44 “โรคที่ต้องเฝ้าระวังในฤดูหนาว”. อ้างใน http://203.157.15.4/Annual/aesr2553/Open.html

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. สถานการณ์ผู้ป่วยจากโรคหนาว. อ้างใน www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/17880

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.โรคหัดเยอรมันหรือรูเบลล่า (Rubella). อ้างใน http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/7329