HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



เตือนภัยในช่วงฤดูหนาว
จากการสำรวจสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาว









กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศในฤดูหนาวของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ไว้ว่า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว โดยช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุดจะอยู่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม ทั้งนี้ในช่วงดังกล่าวอาจมีหมอกลงจัดผู้ที่สัญจรบนท้องถนนจึงต้องระมัดระวังอุบัติเหตุ

ส่วนภาคใต้จะมีอากาศเย็นในบางวันโดยเฉพาะตอนบนของภาคและในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป


สภาพอากาศในแต่ละภาค

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มมีอากาศหนาวเย็นโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคและมีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเป็นแห่งๆ จากนั้นในเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคมจะมีอากาศหนาวเกือบทั่วไป และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยาะ น่าน ตาก เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนครและนครพนม (ดังภาพ) โดยบางวันจะมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูจะมีอากศหนาวถึงหนาวจัดและอาจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ในบางช่วง สำหรับช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าโดยเฉพาะตอนบนของภาค กับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ และตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จะเริ่มอุ่นขึ้นทำให้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

ภาคกลางและภาคตะวันออก

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนยังคงมีฝนเป็นแห่งๆ และเริ่มจะมีอากาศเย็นในบางช่วงกับมีหมอกในตอนเช้า จากนั้นในเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคมจะมีอากาศเย็นทั่วไป และมีอากาศหนาวหลายพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาของจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้วและจันทบุรี กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ในบางวัน สำหรับช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าโดยเฉพาะตอนบนของภาคกับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ และตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป อากาศจะเริ่มอุ่นขึ้นทำให้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฝั่งอ่าวไทย)

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ รวมทั้งคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรง จากนั้นในเดือนมกราคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง กับจะมีอากาศเย็นในตอนเช้าในหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่าวของภาคจะยังคงมีฝนตกชุก และมีฝนหนักได้เป็นบางวันและตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะมีฝนบางพื้นที่

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอัลดามัน)

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีฝนตกชุก รวมทั้งคลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังค่อนข้างแรง จากนั้นตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมากอยู่ในเกณฑ์บางพื้นที่

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ยังคงมีฝนเป็นแห่งๆ และเริ่มจะมีอากาศเย็นในบางช่วงกับมีหมอกในตอนเช้า จากนั้นในเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคม จะมีอากาศเย็นและมีอากาศหนาวในบางวัน เดือนกุมภาพันธ์อากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน


แผนที่แสดงบริเวณที่มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 – มกราคม 2555


ที่มา : การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2554-2555 (ปรับปรุง) ออกประกาศวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังได้เตือนให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ระมัดระวังสภาพอากาศที่อาจมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันดังต่อไปนี้

1. ในช่วงที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ จะทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาหลายพื้นที่ อาจจะเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ รวมทั้งคลื่นลมในทะเลจะมีกำลังแรง จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวอากาศประจำวันจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไปด้วย

2. เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น) และมีโอกาสเคลื่อนผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ภาคใต้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงและมีคลื่นจัดเป็นครั้งคราว ความสูงของคลื่น 2-4 เมตร และอาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งตามบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของภาคใต้ได้ จึงควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

3. เดือนธันวาคมและมกราคมอาจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ตามบริเวณยอดดอยหรือยอดภู และมักมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2554-2555 (ปรับปรุง) ออกประกาศวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554. อ้างใน http://www.tmd.go.th/programs%5Cuploads%5Cforecast%5C2011-11-01_Seasonal_095734.