HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



SMS การเสี่ยงโชคเส้นทางสู่นิสัยการพนัน








ปัจจุบันระบบการส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจการเสี่ยงโชค ทั้งนี้เพราะง่าย สะดวกรวดเร็ว และมีความเป็นส่วนตัวสูง แต่เรื่องง่ายๆ เช่นนี้กลับไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด เพราะธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่เกินแสนบาทโดยมีของเล็กๆ น้อยๆ มาล้อใจผู้แสวงโชคทั้งหลายนั้น สามารถล้วงเงินจากกระเป๋าของผู้บริโภคทั้งที่เต็มใจจ่ายและไม่เต็มใจจ่ายได้สูงถึงเกือบ 1,500 ล้านบาทต่อปี


พฤติกรรมที่บ่มเพาะนิสัยนักพนัน

ไม่เพียงแต่จะต้องเสียเงินเท่านั้นนักเสี่ยงโชคบางรายได้กลายมาเป็นนักพนันตัวยงไปอีกด้วย ดังเช่น กรณีของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ชั้นปีที่ 2 ที่ได้เปิดเผยผลกระทบหลังจากที่ได้ลองการเสี่ยงโชคทาง SMS ไว้ว่า ตั้งแต่อายุ 9 ขวบตนก็เริ่มเล่นเสี่ยงโชคผ่านทางSMS และเลิกเล่นเมื่ออายุ 17 ปี โดยเริ่มจากการอยากรู้อยากลอง มีเวลาว่างจากการเรียน ที่สำคัญรางวัลที่นำมาล่อตาล่อใจก็เป็นสิ่งที่อยากได้ ซึ่งตอนแรกไม่ได้คิดว่าการเสี่ยงโชคแบบนี้จะทำให้ติด แต่เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น หงุดหงิด โมโห อารมณ์ฉุนเฉียว เพื่อนห้ามไม่ได้ จึงทำให้รู้ว่าเป็นอาการของการติดพนัน นักศึกษาคนดังกล่าวยังได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินที่นำมาเสี่ยงโชคไว้ว่า "ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการเล่น จะอยู่ที่วันละ 50 บาท หรือ1,500 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามอยากฝากไปถึงคนที่เล่นพนันทางSMS ให้เลิกเล่น เพราะ 90% พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้รางวัลแน่นอน"

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากงานวิจัยและเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของเยาวชนสะท้อนให้เห็นว่า การที่เด็กซึมซับประสบการณ์การชิงโชคซึ่งเป็นการลงทุนที่น้อย แต่หวังให้ได้ผลตอบแทนมากๆ อาจเป็นเส้นทางหนึ่งที่นำไปสู่การเล่นพนันในอนาคต งานวิจัยต่างประเทศพบว่า เด็กที่เล่นการพนันจะมีสารโดปามีนในสมองเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการพนันจะเป็นสิ่งที่ถาวร หากเด็กเรียนรู้ซ้ำๆ กับความสุขจากการได้อะไรมาง่ายๆ และรวดเร็ว ไม่รู้จักการประวิงความสุข ความพึงพอใจ (delayed gratification) เซลล์สมองก็จะเจริญไปตามรูปแบบลักษณะดังกล่าว (pruning) และวงจรของสมองก็จะพัฒนาเพื่อรองรับพฤติกรรมลักษณะนี้และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักการอดทนทำงานเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิต


ผลกระทบที่เกิดจากการพนันผ่านระบบ SMS

1. มิติด้านเศรษฐกิจ  ในช่วงฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา (2553) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสุ่มสำรวจข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร พบว่า มีมูลค่าการชิงโชคทาง SMS ถึง 60 ล้านบาท โดยเฉลี่ยผู้บริโภคแต่ละคนกดส่งข้อความประมาณ 20 ครั้ง และเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30-60 บาท/คน และจากการสำรวจของเอแบคโพลล์ ในปี 2553 พบว่า มูลค่าความเสียหายโดยเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจในการสมัครบริการส่งข้อความเพื่อเสี่ยงโชคมีถึง 83.50 บาท / คน

2. มิติด้านสุขภาวะทางกาย จิตใจและสังคม

เด็กที่ส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อชิงรางวัลมักเสพติดกับการร่วมสนุกกิจกรรมดังกล่าว การที่เด็กหมกมุ่นกับการส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อชิงรางวัล จะมีผลทำให้ขาดสมาธิในการเรียน และการเสี่ยงโชคยังเป็นการตอกย้ำทัศนคติในเรื่องการลงทุนน้อยแต่กลับได้รับของรางวัลมาง่ายๆ ทำให้ไม่รู้จักการอดทนรอคอย เด็กที่เสี่ยงโชคจนติดเป็นนิสัย จะมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ติดการเสี่ยงโชค และมีทัศนคติในการใช้ชีวิตในลักษณะที่ ไม่อดทนทำงาน แต่รอคอยโชควาสนาเพื่อให้ได้สิ่งของตอบแทนที่ตนเองต้องการ

3. มิติด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เนื่องจากได้รับข้อความในการประชาสัมพันธ์ให้สมัครบริการเสี่ยงโชคอย่างต่อเนื่อง และขั้นตอนการยกเลิกการร่วมกิจกรรมการเสี่ยงโชคค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน จึงทำให้ผู้บริโภคบางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. ข้อเท็จจริงเรื่องการพนันด้วย sms (5) ผลประโยชน์. http://www.gotoknow.org/blogs/posts/467871

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. ข้อเท็จจริงเรื่องการพนันด้วย sms (2) ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน. http://www.gotoknow.org/blogs/posts/467867

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. ข้อเท็จจริงเรื่องการพนันด้วย sms (6) การกำหนดกติกา. http://www.gotoknow.org/blogs/posts/467872

มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (Foundation for Media Literacy) โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ (media monitor). เครือข่ายรณรงค์หยุดพนันร้องเรียนปัญหา SMS เข้าข่ายพนัน. http://www.mediamonitor.in.th/main/knowledge/2011-07-02-11-23-28/48--sms-.html