HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



เจาะใจนักพนันวัยเยาว์: เหตุพนันฟุตบอล








ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก กีฬาชนิดนี้มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพอนามัยทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่เมื่อมีการนำกีฬาชนิดนี้มาเป็นเกมการพนันขันต่อ แทนที่ฟุตบอลจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพจึงกลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับสังคม อาทิเช่น ปัญหาทางด้านสุขภาพเพราะการนอนดึก หรือปัญหาอาชญากรรม ดังเช่นตัวอย่างข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

“ลูกจ้างร้านขายนาฬิกาสุดแสบ ขโมยนาฬิกาหรู 7 เรือน มูลค่ากว่า 3 ล้านไปจำนำ เจ้าของพบพิรุธเพราะลาออกกะทันหันทั้งที่ทำงานดี ตรวจสอบจึงรู้ความจริงก่อนวางแผนจับกุมตัว สารภาพติดหนี้พนันฟุตบอลไม่มีเงินจ่ายจึงขโมยนาฬิกาดังกล่าวไปจำนำ” (ผู้จัดการออนไลน์, 2554)

“สาวเชียงใหม่ถูกฆ่าปาดคอ-ฟันทั่วร่างกาย ขณะที่ลูกสาววัยยังเด็กที่เห็นเหตุการณ์แม่ถูกทำร้าย ยืนยันกับตำรวจคนก่อเหตุเป็นชายหนุ่มในที่พักเดียวกัน ด้านแฟนสาวหนุ่มโหด เผยแฟนหนุ่มชอบเล่นพนันบอล มีหนี้สินมาก ตร.คาดเข้าไปชิงทรัพย์ แต่ผู้ตายต่อสู้ จึงทำร้ายจนเสียชีวิต” (ผู้จัดการออนไลน์, 2554)



ในปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทยหันมาเล่นการพนันฟุตบอลเพิ่มมากขึ้น จากการเปิดเผยข้อมูลของเครือข่ายรณรงค์หยุดการพนัน พบว่า มีเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ ที่เคยมีประสบการณ์ในการเล่นการพนันสูงถึงร้อยละ 64 ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย ร้อยละ48 นักเรียนระดับชั้นประถมตอนต้น ร้อยละ 20 นักเรียนชั้นระดับประถมตอนปลาย ร้อยละ 19.7 และนักเรียนชั้นระดับมัธยมต้น ร้อยละ12.3 ทั้งนี้การพนันที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ การพนันฟุตบอล ร้อยละ 52.04 รองลงมา คือ เกมออนไลน์ โดยแหล่งพนันบอลที่เด็กและเยาวชนนิยมเล่นพนันบอลด้วยมากที่สุด คือ เพื่อน ร้อยละ 39.84 รองลงมา คือ โต๊ะพนันบอล ร้อยละ 18.70 และเล่นพนันบอลออนไลน์ ร้อยละ 5.29


เหตุใดการพนันฟุตบอลจึงได้รับความนิยมและแผ่ขยายวงกว้างไปยังเด็กและเยาวชนอย่างง่ายดายเช่นนี้ อาจารย์ธนาคม พจนาพิทักษ์ อาจารย์สาขาการแพร่ภาพและเสียงผ่านสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะ ได้ทำการศึกษาทบทวนปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเล่นการพนัน อันได้แก่ สภาพแวดล้อม ครอบครัว แรงจูงใจจากสื่อ การศึกษา การควบคุมบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ นั้น พบว่า อิทธิพลของสื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เล่นพนันมีความสนใจเล่นพนันโดยการใช้สื่อหนังสือพิมพ์กีฬาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเล่นพนัน


เจาะใจนักพนันบอล

ธนาคม พจนาพิทักษ์ อาจารย์สาขาการแพร่ภาพและเสียงผ่านสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะ ได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มนักเล่นพนันฟุตบอลที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และหากเป็นหญิงจะเล่นพนันฟุตบอลตามแฟนที่ชอบเล่นอยู่แล้ว นักพนันบอลที่ให้ข้อมูลครั้งนี้มีประสบการณ์ในการเล่นพนันตั้งแต่ 4 เดือน ไปจนถึง 8 ปี และเป็นผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000 -10,000 บาท รองลงมาคือ มากกว่า 10,000 บาท และมีบางคนที่รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ส่วนใหญ่นิยมเล่นฟุตบอลชุดหรือบอลสเต็ปมากกว่าฟุตบอลเดี่ยวหรือบอลเต็ง เนื่องจากหากทายผลถูกต้องจะได้เงินพนันสูงกว่า

โดยเหตุจูงใจที่ทำให้เล่นพนันฟุตบอลส่วนใหญ่ คือ เล่นเพราะความต้องการเงินเพื่อต้องการให้ชีวิตมีความสุขสบายมากขึ้น รองลงมาคือ อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนที่มีความสนิทสนมกันก็จะชวนกันเล่นมากขึ้น รวมทั้งการอยากรู้อยากลองเอง ส่วนเงินที่ได้มาจากการเล่นพนันฟุตบอลส่วนใหญ่จะนำไปเที่ยว ดื่มเหล้า เลี้ยงเพื่อน หรือซื้อของใช้ส่วนตัวที่ตนเองมีความต้องการ โดยเงินที่ได้จากการเล่นพนันฟุตบอลจะใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว

ผลจากการวิจัยยังพบว่า บทบาทของสื่อที่มีผลต่อการชักจูงใจในการตัดสินใจเล่นการพนันฟุตบอลมากที่สุด ส่วนใหญ่มองว่า คอลัมนิสต์มีบทบาทในการโน้มน้าวชักจูงใจที่เกี่ยวข้องกับการเล่นพนันฟุตบอลอย่างมาก เนื่องจากมีการวิเคราะห์วิจารณ์เกม อัตราการต่อรอง และการทายผลการแข่งขัน ซึ่งงานเขียนเหล่านี้ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงพนันฟุตบอลก็มักจะไม่เข้าใจสิ่งที่คอลัมนิสต์เขียนเท่าใดนัก รองลงมามีบทบาทในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร คล้ายกันกับบทบาทของนักพากย์ฟุตบอล แต่เยาวชนมองว่าบทบาทการแจ้งข้อมูลข่าวสารของคอลัมนิสต์ฟุตบอลส่งผลต่อการเล่นพนันฟุตบอลมากกว่าการแจ้งข้อมูลข่าวสารของนักพากย์ฟุตบอล

ในขณะที่นักพากย์ฟุตบอลมีบทบาทในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร รองลงมาคือ บทบาทในการให้ความบันเทิง ความเพลิดเพลินในขณะที่มีการแข่งขัน ส่วนบทบาทในการโน้มน้าวชักจูงใจหรือบทบาทการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเล่นพนันฟุตบอลนั้นไม่มีเลย แต่ทำหน้าที่บรรยายเกมการแข่งขัน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขัน เป็นเพียงแรงกระตุ้นที่ช่วยในการเชียร์ฟุตบอลสนุกขึ้นเท่านั้น นักพากย์จะพากย์โดยอิงจากตำแหน่งผู้เล่น บทพากย์หรือข้อมูลที่พากย์ก็นำมาจากคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ และด้วยความที่เป็นสื่อที่ออกโทรทัศน์จึงไม่อาจให้ข้อมูลเชิงโน้มน้าวให้เล่นพนันฟุตบอลได้ โดยภาพรวมเยาวชนพอใจอย่างมากต่อการแสดงบทบาทหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสารของนักพากย์

ผลการวิจัยชิ้นนี้ยังได้แสดงความเห็นไว้อีกด้วยว่า ในปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายมาบังคับว่าห้ามเขียนข่าวกีฬาในเชิงพนันบอล ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้รับสารว่าเมื่อได้รับสารจากบทความเหล่านี้แล้วจะคิดว่าเป็นแค่เกมกีฬาหรือนำข้อมูลเพื่อนำไปเล่นการพนัน ทั้งนี้เซียนพนันทั้งหลายยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังเรื่องความรับผิดชอบต่อการเสนอข้อมูลกีฬาในฐานะสื่อมวลชนไว้ว่า เยาวชนไม่ได้คาดหวังความรับผิดชอบจากสื่อ และยังบอกด้วยว่าถึงแม้จะมีการส่งเสริมรณรงค์กันเรื่องนี้ก็จะส่งผลน้อย เนื่องจากคนเล่นการพนันฟุตบอลยังไงเขาก็เล่น




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : ธนาคม พจนาพิทักษ์ และ วิโรจน์ ศรีหิรัญ. บทบาทและอิทธิพลของนักพากย์ฟุตบอลและคอลัมนิสต์ฟุตบอลที่มีต่อการเล่นพนันฟุตบอลของเยาวชน. การแพร่ภาพและเสียงผ่านสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 2554

มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา. เสื่อม! นศ.สาวพลีการใช้หนี้พนัน อัดบทวิเคราะห์ผลกีฬาจูงใจโจ๋. สิงหาคม 2554. อ้างใน http://www.mediaminitor.in.th/main/component/content/frontpage.html?start=20

ผู้จัดการออนไลน์. เปิดผลสำรวจเด็ก 64% เคยเล่นพนัน ฟุตบอลติดอันดับ 1. 2554. อ้างใน http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9540000065008