HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



ระวังภัยโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วม








การเตรียมความพร้อมหลังภัยพิบัติมาเยือนในครั้งนี้สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน คือ การเฝ้าระวังโรคระบาดซึ่งเป็นผลพวงของกระแสน้ำที่พัดพาเชื้อโรคต่างๆ แพร่กระจัดกระจายไปทั่ว อีกทั้งน้ำขังยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคให้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกสื่อรณรงค์เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาดหลังน้ำลด โดยการป้องกันโรคเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถช่วยกันดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้นเพียงแค่ใส่ใจและปฏิบัติตามด้วยวิธีอย่างง่ายๆ ดังนี้

1.โรคตาแดง โรคตาแดงเป็นโรคติดต่อได้ง่ายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะในเด็กเล็กเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื่อไวรัส แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

การติดต่อ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปตาอีกข้าง ผู้ป่วยมักหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธีอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบทำให้ปวดตา ตามัว

การปฏิบัติตัว เมื่อมีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที เมื่อมีอาการของโรคควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตา ป้องกันภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7 วัน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกัน ไม่ควรไปในที่ที่มีคนมากเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด ถ้ามีอาการปวดตารุนแรงตาพร่ามัวหรืออาการไม่ทุเลาภายใน 1 สัปดาห์ ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง



2. โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อ coxsackie virus มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อ enterovirus71 มักมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

การติดต่อ เชื้อแพร่กระจายได้ทั้งการหายใจและทางเดินอาหาร สามารถต่อต่อได้จากการไอ จาม และการสัมผัสจากอุจจาระของผู้ป่วย โรคมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้ โดยที่ยังไม่แสดงอาการพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี แหล่งที่มักพบคือ สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และโรงเรียน

อาการ เด็กมีไข้ เจ็บคอ มีแผลอักเสบเป็นตุ่มใสแตกเป็นแผลตื้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก พบตุ่มใสขอบแดงที่มือ เท้า ก้น และรอบอวัยวะเพศร่วมได้ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ในระยะเวลา 7-10 วัน กรณีอาการรุนแรง เด็กมีไข้สูง ซึม หรือชักและเสียชีวิตได้

การรักษา เป็นการประคับประคองให้สารน้ำ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ การใช้ยาลดไข้ และทายาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการปวด โดยเฉพาะในช่องปาก อาการสามารถหายได้เองใน 7-10 วัน ปัจจุบันยังไม่มียาต้ายไวรัสที่ได้ผล

การป้องกันโรค ควรดูแลสุขอนามัยให้สะอาด สอนให้เด็กๆ ล้างมือบ่อยๆ เวลา ไอจาม ควรปิดปาก หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือใกล้ชิดผู้ป่วย ถ้าเด็กมีอาการของโรคควรไปพบแพทย์และให้หยุดเรียน จนกว่าจะหายเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค



3. โรคไข้ฉี่หนู โรคฉี่หนูหรือโรคเลบโตสไปโรซีส เป็นโรคติดต่อที่ระบาดจากโรคของสัตว์มาสู่คน โดยเฉพาะหนู ติดต่อมาถึงคนได้โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะหนูแล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ

การติดต่อ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ ผู้ที่เดินลุยน้ำท่วม คนงานบ่อปลา ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ เชื้อไข้ฉี่หนูสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการไชเช้าทางบาดแผล หรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า ตา ขณะที่แช่น้ำ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีฉี่หนูปนเปื้อนในอาหารนั้นๆ

อาการ หลังจากได้รับเชื้อโรคไข้ฉี่หนูประมาณ 3-10 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

• มีอาการไข้เฉียบพลัน เมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนอาจมีตาแดง

• อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน

• ถ้ามีอาการที่กล่าวมาหลังจากไปแช่น้ำ ย่ำโคลน 2-26 วัน (เฉลี่ย 10 วัน) ควรนึกถึงโรคนี้ไม่ควรหายามากินเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ที่ออกมาให้บริการในพื้นที่

การป้องกัน

• หลีกเลี่ยงกานย่ำ หรือแช่น้ำ หรือโคลนนานๆ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผลตามแขน ขา มือ เท้า

• ถ้ามีความจำเป็นต้องย่ำหรือแช่น้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง

• ชำระล้างร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณบาดแผลให้สะอาด หลังจากลุยน้ำ/ ขึ้นจากน้ำ ทันที

• ดูแลที่พักให้สะอาด ปราศจากสัตว์กัดแทะโดยเฉพาะหนู

• เก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู

• รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วทันที หรือเก็บอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด



4. โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเมื่อสูดลมหายใจเอาเชื้อเข้าไป จะไปเจริญอยู่ในลำคอ และเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วยๆ จะมีอาการตัวร้อน มีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 วัน ปวดศรีษะมาก ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียแฉะ

การติดต่อ ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ง่าย โดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายในอาการเข้าไป การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม ละอองน้ำมูก เสมหะ และหายใจรดกัน การใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย การนำมือที่สัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาขยี้ตา จับต้องจมูก ปาก ประกอบกับการที่มีสภาวะอากาศอับชื้นและหนาวเย็น ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง จึงมีโอกาสติดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย

การป้องกัน ล้างมือบ่อยๆ จนเป็นนิสัย ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเตรียม/ปรุงอาหาร หลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง และทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้มือที่ไม่ได้ล้างสัมผัสบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยและอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

การปฏิบัติ

• ใช้ผ้าสะอาดปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชูนุ่มๆ เช็ดน้ำมูก ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ จะทำให้เกิดการอักเสบในหูได้

• เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นแทนการอาบน้ำ แล้วเช็ดตัวให้แห้งทันที ไม่ควรอาบน้ำเย็นจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นปอดบวมได้

• กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกาย และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกอุ่นๆ บ่อยๆ ใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

• ล้างมือให้เป็นนิสัย

• หากมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน เจ็บหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ รวมทั้งผู้ป่วยที่มีไข้สูงและมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ควรรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับข้อมูลการสัมผัสสัตว์ปีก เพราะอาจได้รับเชื้อโรคไข้หวัดนกได้



5. โรคปอดบวม เกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทำให้มีอาการติดเชื้อ เกิดการอักเสบบริเวณปอด ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หากมีการสำลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้

การติดต่อ ติดต่อได้โดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเข้าไป การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดบวมที่มีอาการไอ จาม ละอองน้ำมูก เสมหะ และหายใจรดกัน การสำลักสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสที่มีอยู่ในอากาศ เข้าไปในจมูก และลำคอ ซึ่งมักพบในผู้ที่อ่อนแอ มีความต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ

อาการ มีไข้สูง ไอมาก หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปาก ซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม หากมีไข้หนาวสั่นเกิน 3 วัน มีอาการไออย่างรุนแรง มีเสมหะปนเลือด ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

การปฏิบัติ

• ผู้ป่วย ควรใช้ผ้าสะอาดปิดปาก ปิดจมูก หรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอ จาม

• หากมีไข้ ใช้ผ้าชุบบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้ และกินยาลดไข้ร่วมด้วย

• ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกอุ่นๆ บ่อยๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว

• ใส่เสื้อผ้าสะอาด ไม่เปียกชื้น ให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

การป้องกัน

• ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

• ไม่สัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย

• หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น หรือในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

• ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนกินอาหาร หลังการขับถ่าย หลังหยิบจับสิ่งสกปรกหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง ก่อนและหลังจากการสัมผัสผู้ป่วย



6. โรคอุจจาระร่วง โรคอุจาระร่วงหรือท้องเสีย หมายถึง ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียวเป็นอาการที่พบได้บ่อยและมีสาเหตุได้หลายประการ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และมักหายได้เอง ในเด็กและคนชราอาจมีอาการรุนแรง ทำให้มีถาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ เป็นอันตรายถึงตายได้ นอกจากอาการถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว หรือถ่ายมีมูกปนเลือดแล้วอาจมีอาการไข้ ปวดท้อง และอาเจียนร่วมด้วย

สาเหตุ เกิดจากการกินอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค การกินอาหารไม่สุก อาหารที่ตั้งทิ้งไว้นานๆ การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมอาหารหรือปรุงอาหารและก่อนกินอาหาร รวมทั้งการใช้ภาชนะที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรคปนเปื้อนในการใส่อาหารและตักอาหาร

การปฏิบัติ ผู้ป่วยควรกินหรือดื่มของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ได้แก่ สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โอ อาร์ เอส น้ำแกงจืด หรือน้ำข้าวใส่เกลือ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

การป้องกัน

• ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย

• ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำที่ใส่คลอรีน หรือน้ำบรรจุขวด

• เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกด้วยความร้อน และปรุงสุกใหม่ๆ

• กำจัดสิ่งปฏิกูล ขนะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน



7. โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังที่พบบ่อยในภาวะน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่เท้าในน้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากการใส่ถุงรองเท้าที่ไม่สะอาดหรืออับชื้นเป็นเวลานาน

อาการ ในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อยและเป็นหนองต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาแตก และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ผิวหนังอักเสบได้

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำควรสวมถุงพลาสติกหรือใส่รองเท้าบู๊ทกันน้ำ หากน้ำล้นเข้าไปในรองเท้าบู๊ทให้ถอดแล้วเทน้ำในรองเท้าออกเป็นคราวๆ ไม่ควรแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา หลังจากการเดินย่ำทุกครั้งต้องล้างเท้าให้สะอาดฟอกสบู่ให้ทั่วแล้วเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากมีบาดแผลให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ ทิงเจอร์หรือเบตาดีน หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ โดยเฉพาะผู้มีแผลที่เท้าและขา ไม่ควรใส่รองเท้าที่เปียกชื้นหรืออบทั้งวัน

อย่าลืมว่าจิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง อย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมกับการต่อสู้ชีวิตหลังภัยพิบัติผ่านพ้น




เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://www.hed.go.th/frontend/theme/content_frame.php?ID_Info=00021284