HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ประสบอุทกภัย
จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN)









จากสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK – TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 12 ตุลาคม 2554) ทำให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวนทั้งสิ้น 61 จังหวัด 600 อำเภอ และมีผู้เสียชีวิต 289 ราย สูญหาย 2 คน

ทั้งนี้จังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน 61 จังหวัดนั้น มีจังหวัดที่สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายแล้ว 35 จังหวัด โดยมีพื้นที่ที่ยังคงอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมอีก 26 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ตาก และราชบุรี (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 แสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


ที่มา : http://www.thaiflood.com/ ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 13 ต.ค. 54


ในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมด 289 รายนั้น สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ ได้แก่ จากการจมน้ำ จำนวน 226 ราย รองลงมาได้แก่ พลัดตกน้ำ จำนวน 17 ราย ดินสไลด์/โคลนถล่ม จำนวน 14 ราย ไฟฟ้าช็อต จำนวน 12 ราย น้ำป่าพัด จำนวน 10 ราย เรือพลิกคว่ำ/เรือล่ม จำนวน 8 ราย และต้นไม้ล้มทับจำนวน 2 ราย (ดังภาพที่ 2)


ภาพที่ 2 สาเหตุการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและดินโคลนถล่ม
ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 54 ถึงปัจจุบัน (12 ต.ค. 54)


ที่มา : รายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย (พายุนกเตน) และร่องความกดอากาศต่ำ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2554 ถึงปัจจุบัน สรุปรายชื่อผู้เสียชีวิต วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม อ้างใน http:// disaster.go.th/dhm/flood/flood.htm./ “จำนวนผู้เสียชีวิต”


ทั้งนี้พบว่า ผู้เสียชีวิตที่มีอายุต่ำสุดมีอายุเพียง 6 เดือน และสูงสุดมีอายุ 94 ปี เมื่อแบ่งตามช่วงอายุ พบว่าสัดส่วนของกลุ่มคนที่เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กลุ่มวัยแรงงานซึ่งอายุตั้งแต่ 15-59 ปี เสียชีวิตสูงสุด ร้อยละ 61 รองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ ร้อยละ 25 และกลุ่มเด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 0-14 ปี ร้อยละ 14 (ดังภาพที่ 3)


ภาพที่ 3 แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตจำแนกตามอายุ


ที่มา : รายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย (พายุนกเตน) และร่องความกดอากาศต่ำ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2554 ถึงปัจจุบัน สรุปรายชื่อผู้เสียชีวิต วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม อ้างใน http:// disaster.go.th/dhm/flood/flood.htm./ “จำนวนผู้เสียชีวิต”


และเมื่อนำตัวเลขผู้เสียชีวิตมาทำการวิเคราะห์ถึงสัดส่วนผู้เสียชีวิตในแต่ละเดือน พบสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ในช่วงเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์น้ำเข้าขั้นวิกฤต พบว่า ผู้เสียชีวิตในช่วงนี้มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่า (จาก 10 รายในเดือนสิงหาคมเพิ่มเป็น 46 รายในเดือนมกราคม) เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงวัยเด็กและวัยแรงงานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมโดยเฉลี่ย 2 เท่า (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 จำนวนรวมของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมจำแนกตามอายุและเดือน


ที่มา : รายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย (พายุนกเตน) และร่องความกดอากาศต่ำ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2554 ถึงปัจจุบัน สรุปรายชื่อผู้เสียชีวิต วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม อ้างใน http:// disaster.go.th/dhm/flood/flood.htm./ “จำนวนผู้เสียชีวิต”


สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูพฤติกรรมเสี่ยง สภาพแวดล้อมในขณะที่จมน้ำ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งเสริมให้เกิดการจมน้ำเสียชีวิต ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำทั้งหมด ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 พบว่า ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำทั้งหมด 253 ราย สามารถตรวจสอบสาเหตุการจมน้ำได้ 227 ราย สาเหตุที่พบมากที่สุด คือ หาปลา 52 ราย ร้อยละ 22.9) รองลงมา คือ เมาสุราแล้วลื่นล้ม ตกน้ำ หรือว่ายน้ำ กระโดดน้ำแล้วโดนน้ำพัด 33 ราย (ร้อยละ 14.5) เล่นน้ำ 22 ราย (ร้อยละ 9.7) และเรือพลิกคว่ำ 18 ราย (ร้อยละ 7.9) โดยทุกสาเหตุเกิดในกลุ่มผู้ใหญ่เป็นหลัก ทั้งในวัยแรงงานและผู้สูงอายุ ยกเว้นการเล่นน้ำที่ประมาณร้อยละ 80 เกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี นอกจากนี้ยังมีการพลัดตกขอบถนนขณะเดินลุยน้ำ และการขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์บนถนนที่มีน้ำท่วมที่พบการเสียชีวิตในเด็กสูงกว่าในผู้ใหญ่ (ภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในประเทศไทย จำแนกตามรายละเอียดของสาเหตุการเสียชีวิต
ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม - วันที่ 7 ตุลาคม 2554


ที่มา : สรุปสถานการณ์ผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและโคลนถล่ม ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2554 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/BOE-flood-death-7Oct54[1].pdf


จากสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ให้คำแนะนำไว้ว่า

1. ควรมีการประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเพศชาย วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุโดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างซึ่งมีวัฒนธรรมการหาปลาโดยการลงข่ายดักปลา ซึ่งต้องดำลงไปใต้น้ำทั้งตอนไปวางข่ายและอีกครั้งตอนลงไปดูว่ามีปลาติดข่ายหรือไม่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการจมน้ำเสียชีวิต โดยที่มีหลายรายที่พบในสภาพที่มีตาข่ายพันที่ขา

2. ควรลดการดื่มสุราเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยไม่ดื่มโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมมาไม่นานนัก เช่น กลุ่มจังหวัดในภาคกลาง สาเหตุการเสียชีวิตโดยส่วนใหญ่เนื่องจากการทรงตัวไม่ดีทำให้ลื่นล้ม พลัดตกน้ำ หรือการทำกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น กระโดดจากสะพานลงเล่นน้ำ หรือว่ายข้ามแม่น้ำที่กำลังเชี่ยว

3. ห้ามเด็กเล่นน้ำในบริเวณน้ำท่วมเนื่องจากอาจะไปเจอช่วงที่น้ำเชี่ยว และถูกน้ำพัดจมน้ำ

4. งดการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่จำเป็น ส่วนในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ควรหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น การสวมเสื้อชูชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่นั่งเรือ เนื่องจากอาจเจอช่วงที่น้ำเชี่ยวและเกิดเรือพลิกคว่ำ

5. ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยทางสมองหรือจิตเวชต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งระวังไม่ให้ขาดยาและทำสภาพแวดล้อมให้ลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ เช่น สะพานไม้เล็กๆ ที่ทำเป็นทางเดินชั่วคราวสำหรับเข้าบ้านควรสร้างราวสำหรับจับเอาไว้ด้วย

6. สำหรับกรณีไฟฟ้าช๊อต ซึ่งปกติควรมีการตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วม แต่มีบางพื้นที่ที่ไม่ยินยอมให้ตัดไฟ ในกรณีนี้ต้องมีการประชาสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ให้ระวังไม่เดินในบริเวณที่น้ำท่วมถึงปลั๊กไฟ หรือไปสัมผัสคัทเอาท์หรือปลั๊กไฟขณะที่ตัวเปียกน้ำ

ภัยพิบัติเพราะน้ำหลากมากที่สุดในปีนี้ได้สร้างความสูญเสียไว้มากมาย ร่องรอยจากคราบน้ำตาแห่งความสูญเสียในครั้งนี้ คือ บทเรียนครั้งสำคัญในชีวิต ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ประเทศของเราต้องมีมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติที่อาจมาเยื่อนได้โดยไม่คาดฝัน



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
แหล่งที่มา : ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม. “รายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย (พายุนกเตน) และร่องความกดอากาศต่ำ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2554 ถึงปัจจุบัน สรุปรายชื่อผู้เสียชีวิต วันที่ 12 ตุลาคม 2554”. อ้างใน http:// disaster.go.th/dhm/flood/flood.htm./ “จำนวนผู้เสียชีวิต”.

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. “สรุปสถานการณ์ผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและโคลนถล่ม ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2554”. อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/files/urgent/BOE-flood-death-7Oct54[1].pdf.