HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



อาหารถุงสิ่งใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม



ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบของคนในเมืองที่ต้องพึ่งพาอาหารนอกบ้านอย่างน้อยวันละ 1 มื้ออยู่เป็นประจำนั้น มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมแฝงอยู่ โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจวิถีการกินอยู่ของคนเมืองกรุง (2552) พบว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคประสบมากที่สุดเมื่อซื้ออาหารที่ร้านค้าริมทาง ร้อยละ 67.3 คือ ความไม่สะอาด สิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอม พ่อค้าแม่ค้าล้างมือไม่ล้างมือเวลาทำอาหาร การแต่งกายไม่สะอาด รองลงมาร้อยละ 8.4 คือ อาหารไม่สด อาหารค้างคืน และร้อยละ 4.9 รสชาติไม่อร่อย นอกจากนี้เคยพบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ได้แก่ เส้นผมหรือขน ร้อยละ 73.6 รองลงมาคือ ฝุ่นหรือก้อนหิน ร้อยละ 36.5 หนังยาง ร้อยละ 35.6 แมลง ร้อยละ 32 และยังพบเศษอุปกรณ์ทำความสะอาดอีก ร้อยละ 21.9

นอกจากนี้ยังพบว่าอาหารปรุงสำเร็จที่มักใส่ในถุงพลาสติกนั้น มักมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มซึ่งบ่งชี้ได้ว่าอาหารนั้นไม่สะอาด และอาจทำให้ผู้ที่บริโภคอาหารนั้นท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ ปวดศรีษะ หรืออาจเสียชีวิตได้

สำรวจคุณภาพอาหารถุง

กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการสำรวจอาหารถุงในตลาดสด ในเขตเทศบาลเมืองของ 4 จังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ จังหวัดน่าน อ่างทอง หนองคาย และระนอง โดยเก็บตัวอย่างอาหารประเภทแกง/ต้ม ผัด และลวก รวมจำนวน 476 ตัวอย่าง จากสถานจำหน่ายอาหาร 132 แห่ง เพื่อนำมาตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย พบการปนเปื้อนในตัวอย่างถึงร้อยละ 57.14 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กองสุขาภิบาลอาหาร และน้ำ กรมอนามัยกำหนด (ไม่เกินร้อยละ 30) โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์ม ร้อยละ 68.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 59.2 ภาคใต้ ร้อยละ 51.5 และภาคกลาง ร้อยละ 49.2 ตามลำดับ (ดังภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 การตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มในอาหารถุงเกินจากเกณฑ์ที่กำหนด จำแนกตามภาค


ที่มา : การศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของอาหารถุงที่จำหน่ายในตลาดประเภทที่ 1 (กรณีศึกษาอาหารถุงที่จำหน่ายในตลาดประเภทที่ 1 ของ 4 จังหวัด) อ้างใน วารสารสุขาภิบาลอาหาร ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2551.

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม ได้แก่

• สถานที่จำหน่าย (สถานที่ตั้งถูกสุขลักษณะไม่ใกล้แหล่งอาหารดิบ มีการไล่แมลง) ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 94.54

• สุขลักษณะของการจำหน่าย (มีการอุ่นอาหาร มีการปกปิดอาหาร และใช้อุปกรณ์หยิบตักอาหาร) ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 90.97

• สุขลักษณะของผู้สัมผัสอาหาร (มีการแต่งกายสะอาด สวมหมวกผ้าคลุมผม ผ้ากันเปื้อน มือสะอาด เล็บสั้น ล้างมือและผลการตรวจมือด้วย SI-2 ผ่านเกณฑ์ทั้ง 7 ข้อ) ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 93.7

• อาหารประเภทแกงกะทิพบการปนเปื้อนสูงสุด ร้อยละ 17.65 อาหารประเภทผัดไม่ใส่กะทิ พบการปนเปื้อน ร้อยละ 14.08 อาหารประเภทผักลวกไม่ใส่กะทิ ร้อยละ 12.18

• ลักษณะการบรรจุถุงและการตักใหม่ พบว่า แบบตักใหม่พบการปนเปื้อน ร้อยละ 51.05 ส่วนแบบตใส่ถุงไว้พบร้อยละ 6.09


ข้อเสนอแนะในการเลือกซื้ออาหารถุง

1. ถ้าแผงลอยจำหน่ายอาหารอยู่ในตลาดต้องมีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนไม่ใกล้สิ่งปนเปื้อน

2. อาหารปรุงสุกมีการปกปิด หรือมีการป้องกันสัตว์แมลงนำโรค

3. มีการอุ่นอาหารอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารประเภทแกงใส่กะทิผัดต่างๆ และผักลวกต้องใช้ความระมัดระวังในการปกปิด การหยิบจับ

4. ผู้สัมผัสอาหารแต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขน ผู้ปรุงต้องผูกผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมหมวกหรือเน็ทคลุมผม และเน้นการล้างมือก่อนจำหน่าย

5. ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว

6. สำหรับผู้บริโภคอาหารถุงก่อนนำมาบริโภคต้องอุ่นให้ร้อนก่อนโดยเฉพาะอาหารผัดและแกงที่มีกะทิ

ดังนั้นหากจะเลือกซื้ออาหารกลับบ้านในมือต่อไป เราคงต้องใส่ใจและสังเกตกันอีกสักนิดว่า เบื้องหลังความอร่อยนั้นต้องมั่นใจได้ว่าสะอาดและปลอดภัย



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ