HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



อย่าทำร้ายเด็ก โดยปล่อยให้เด็กอ้วน



จากการสำรวจภาวะน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กไทยอายุ 1-14 ปี โดยโครงการการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พบว่า เด็กไทย ร้อยละ 4.7 มีน้ำหนักเกินหรือเริ่มอ้วน และอีกร้อยละ 4.6 อ้วน เด็กเหล่านี้จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายระบบ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบว่าสูงขึ้นมากในช่วง 20 ปี เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงอ้วนทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน รวมทั้งความดันโลหิตสูง มีการประมาณว่าโรคอ้วนจะเป็นภาระกับผลผลิตมวลรวมของประเทศที่กำลังพัฒนาสูงถึงร้อยละ 1.1-1.2 ซึ่งหากไม่รีบแก้ไข ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากโรคอ้วนนี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหยุดชะงักได้

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวัย เด็กทุกกลุ่มอายุมีความชุกของภาวะน้ำหนักเกิน (เริ่มอ้วน) และอ้วนสูงกว่าภาวะผอม เด็กอายุ 12-14 ปีมีความชุกภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนรวมกันสูงสุด ร้อยละ 11.9 รองลงมาเป็นเด็กอายุ 6-11 ปี ร้อยละ 8.7 และ 1-5 ปี ร้อยละ 8.5 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุ 1-5 ปี มีความสมส่วนมากที่สุด (ภาพที่ 1) โดยเด็กชายอายุระหว่าง 6-11 ปีมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนสูงกว่าเด็กหญิง (ภาพที่ 2)


ภาพที่ 1 เปรียบเทียบน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงของเด็กอายุ 1-5 ปี 6-11 ปี และ 12-14 ปี



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบความชุกของปัญหาน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ผอม น้ำหนักเกิน และอ้วน จำแนกตามวัยและเพศ



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก

ทั้งเมื่อจำแนกตามเขตการปกครองพบว่า เด็กในเขตเทศบาลมีความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วนสูงกว่าเด็กนอกเขตเทศบาล โดยเด็กอายุ 1-5 ปี ที่อยู่ในเขตเทศบาลมีปัญหาน้ำหนักเกิน ร้อยละ 6.3 และอ้วน ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับนอกเขตเทศบาลมีน้ำหนักเกินเพียง ร้อยละ 2.9 และอ้วน ร้อยละ 3.9

ส่วนเด็กอายุ 6-11 ปี ที่อยู่ในเขตเทศบาลพบปัญหาน้ำหนักเกิน ร้อยละ 7.2 และอ้วน ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเด็กนอกเขตเทศบาล พบ ภาวะน้ำหนักเกิน ร้อยละ 4.3 และอ้วน ร้อยละ 3

สำหรับเด็กอายุ 12-14 ปี พบภาวะอ้วนมากกว่าปัญหาน้ำหนักเกินแล้ว โดยในเขตเทศบาลมีปัญหาอ้วน ร้อยละ 9.8 และน้ำหนักเกินร้อยละ 6.3 ในขณะที่นอกเขตเทศบาลพบปัญหาอ้วน ร้อยละ 6.1 และน้ำหนักเกิน ร้อยละ 4


ภาพที่ 3 เปรียบเทียบความชุกของปัญหาน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ผอม น้ำหนักเกิน และอ้วน จำแนกตามวัยและเขตการปกครอง



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก

เมื่อแยกออกเป็นรายภาค ในกลุ่มเด็กอายุ 1-5 ปี ในเขตกทม.พบเด็กมีปัญหาน้ำหนักเกินมากที่สุด คือ ร้อยละ 8.7 ส่วนภาคใต้ ภาคกลางและกทม. พบว่า เด็กมีความอ้วนสูงพอ ๆ กัน คือ ร้อยละ 6.7 ร้อยละ 6.5 และร้อยละ 6.2 (ตามลำดับ) แต่ในภาคอีสานพบว่า ส่วนใหญ่เด็กมีภาวะโภชนาการพร่องมากกว่าภาคอื่นๆ คือ มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ร้อยละ 7.4 และผอม ร้อยละ 3.8 (ดังภาพที่ 4)


ภาพที่ 4 เปรียบเทียบความชุกของปัญหาน้ำหนักเกิน อ้วน น้ำหนักน้อย และผอม ของเด็กอายุ 1-5 ปีจำแนกตามภาค



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก

ในเด็กอายุ 6-11 ปี ที่อยู่ในเขตกทม.มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่าทุกภาค คือ น้ำหนักเกิน ร้อยละ 7.3 และอ้วน ร้อยละ 5.4 รองลงมาคือ ภาคกลาง โดยเด็กที่มีภาวะโภชนาพร่องมากว่าภาคอื่นๆ อาทิ มีน้ำหนักน้อยพบมากที่สุดในภาคเหนือและภาคใต้ ร้อยละ 7 เท่ากัน ส่วนภาคอีสานมีปัญหาเด็กผอมมากกว่าภาคอื่นๆ ร้อยละ 4.9 (ภาพที่ 5)


ภาพที่ 5 เปรียบเทียบความชุกของปัญหาน้ำหนักเกิน อ้วน น้ำหนักน้อย และผอม ของเด็กอายุ 6 - 11 ปีจำแนกตามภาค



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก

ในกลุ่มเด็กที่มีอายุ 12 -14 ปี ที่อยู่ในเขตกทม.มีภาวะอ้วนสูงสุดร้อยละ 10.2 รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ร้อยละ 9.7 ส่วนภาวะน้ำหนักเกินสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ ร้อยละ 6 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 5.2 สำหรับภาวะโภชนาการพร่อง อาทิ มีน้ำหนักน้อย พบมากที่สุดในภาคใต้ร้อยละ 4.6 และกทม.ร้อยละ 4.5 ผอมพบมากที่สุดในภาคกลาง ร้อยละ 6 และกทม. ร้อยละ 4.9 (ภาพที่ 6)


ภาพที่ 5 เปรียบเทียบความชุกของปัญหาน้ำหนักเกิน อ้วน น้ำหนักน้อย และผอม ของเด็กอายุ 12-14 ปี จำแนกตามภาค



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก

เมื่อเปรียบเทียบค่าน้ำหนักเกินและอ้วนโดยใช้เกณฑ์อ้างอิง BMI ของ International Obesity Task Force (IOTF) พบว่า ประเทศไทยมีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนประมาณครึ่งของประเทศตะวันตกและประเทศอเมริกาใต้ สำหรับประเทศในเอเซีย ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของประเทศไทยใกล้เคียงกับประเทศที่มีระดับรายได้สูง

เมื่อเทียบกับข้อมูลในเด็กกลุ่มอายุเดียวกันระหว่างเด็กไทยกับประเทศออสเตรเลียและสวิตเซอร์แลนด์พบว่า ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็กชายใกล้เคียงกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์และมีความชุกในเด็กหญิงสูงกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศออสเตรเลีย ประเทศไทยมีความชุกในเด็กหญิงเป็นครึ่งหนึ่งและความชุกในเด็กชายประมาณสองในสาม


ตาารางที่ 1 แสดงความชุกภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของเด็กในประเทศต่างๆ ที่ใช้เกณฑ์อ้างอิง BMI ของ International Obesity Task Force (IOTF)



ที่มา : รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 สุขภาพเด็ก

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยในโครงการนี้ได้ระบุว่าโรคอ้วนกำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ของเด็กไทยเข้าขั้นอันตราย ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเด็กในเขตชนบทก็เริ่มพบปัญหานี้เพิ่มขึ้น เด็กไทยอายุ 1-4 ปี 540,000 คน มีน้ำหนักเกินและอีก 540,000 คนอ้วน ในจำนวนนี้ 135,000 คนเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งปัญหาอ้วนในเด็กจะส่งผลให้พบปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นในผู้ใหญ่ เป็นภาระค่าใช้จ่ายและอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ดังนั้นปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่ควรเฝ้าระวังและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ