HISO - สื่อข้อมูลสุขภาพ
เกิดข้อผิดพลาด ไม่สามารถติดต่อฐานข้อมูลได้
  



สุราสิ่งเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย



สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน 60 ดีกรี (vol %) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่คนสามารถใช้ดื่มได้ สุราจัดเป็นสิ่งเสพย์ติดประเภทกดระบบประสาทส่วนกลาง แต่ฤทธิ์การติดยา และฤทธิ์ต่อร่างกายไม่รุนแรงเท่ายาเสพติดกลุ่ม Opiates (สารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางจำพวกฝิ่น) ด้วยเหตุนี้สุราและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์จึงเป็นยาเสพติดที่ไม่ผิดกฏหมาย แต่เมื่อดื่มสุราจนมีการสะสมในระดับหนึ่งจะติดสุราและเมื่อหยุดการดื่มแล้วจะมีปฏิกิริยาของร่างกายที่เรียกว่า อาการลงแดง

แม้ว่าสุราจะไม่ใช่ยาเสพติดแต่สุราก็มีผลกระทบต่อสุขภาพนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ดังข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้

การดื่มสุราส่งผลกระทบต่อร่างกาย

ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นทันทีที่ดื่มแอลกอฮอล์ คือ เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ตับ เอนไซม์ในตัวคนเราจะเปลี่ยนจากแอลกอฮอล์เป็นสารตัวใหม่ที่มีชื่อว่า อะเซ็ตทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) และเปลี่ยนต่อไปเป็นสารอะซิเทต (acetate) และจะเคลื่อนตัวไปยังสมองรวมไปถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ผลจากการเคลื่อนตัวไปยังส่วนต่างๆ นี่เองทำให้ร่างกายมีอาการเริ่มตั้งแต่อาการสมองโปร่งโล่งสบายในระยะแรก แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรู้สึกคล้ายกับถูกบีบหนักๆ ร่างกายเริ่มผิดเพี้ยน เคลื่อนไหวโซซัดโซเซ ลิ้นแข็ง พูดจาอ้อแอ้ หูอื้อตาลาย และแดงกล้ำไปด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ บางคนถึงขนาดความจำเสื่อมไปชั่วขณะ หากผู้ที่ยังดื่มต่อไปอย่างไม่หยุดก็จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และเกิดปฏิกิริยาผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน แอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมอง กล่าวคือ ปกติเซลล์สมองจะมีกลไกป้องกันตัวเองโดยการเปลี่ยนแปลงผนังเซลล์ให้หนามากพอที่จะไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลาย ดังนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เดินทางมาสู่สมองเซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนเกิดผลของอาการเมาค้างตามมาในที่สุด ปฏิกิริยาสุดท้ายเป็นกระบวนการแห้งเหือดของน้ำหรือของเหลวภายในร่างกาย แอลกอฮอล์เป็นสารที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยของเหลวในร่างกาย โดยดูดซึมและขับถ่ายในรูปปัสสาวะและยังขับสารอาหารสำคัญๆ ออกมาอีกด้วย ในร่างกายจึงมีสารบางชนิดหลงเหลืออยู่ในปริมาณต่ำสุด เช่น แมกนีเซียม โปแตสเซียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินซี เป็นต้น นอกจากปฏิกริยาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สุรายังเป็นสะพานเชื่อมไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1  กลุ่มโรคต่างๆ ที่เกิดจากการดื่มสุรา

  กลุ่มโรคทางระบบประสาท (Unipolar major depression), (Epilepsy), (Alcohol-use disorders)
  1. โรคเวนิคเค ; ความจำเสื่อมอย่างมาก สติสัมปชัญญะสับสน(Wernike Syndrome)
  2. โรคคอร์ซาคอฟท์ ; ความจำเสื่อมไม่รู้จักเวลา สถานที่ บุคคล และพูดไม่จริงอันเนื่องมาจากการดื่ม)
  3. สุรา (Korsakoff’s Syndrome )
  4. โรควิกลจริต (Alcoholic dementia )
  5. โรคหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เสียการควบคุมด้านอารมณ์(Neonatal irritability)
  6. การเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า (Retarded growth and development)
  7. โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
  8. ความกังวล กลุ้มใจ เป็นทุกข์ , ความตกต่ำ(Anxiety, depression)
  9. กระบวนการการรับรู้ ความเข้าใจ บกพร่อง / ขาดสติ(Cognitive deficits)
  10. ความกังวลใจกับการดื่ม (Worry about drinking)
  11. โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบหวาดระแวงเพราะพิษสุรา (Alcoholic paranoid)
  12. โรคจิตหลอน / ประสาทหลอน (Alcoholic halluciosis)
  13. โรคคลั่งเพ้อ เกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง(Toxic psychosi or Delirium tremens)
  14. โรคสมองพิการ ,การทำหน้าที่ของสมองผิดปกติส่งผลถึงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย (Ataxia due to cerebella dysfunction)
  15. โรคความจำเสื่อม
  16. กล้ามเนื้อส่วนปลายแขน ขา อ่อนแรง / ปลายประสาทพิการ (Alcoholic Peripheral myopathy)
  17. โรคจิตจากสุรา (Alcoholic psychosis)
  18. โรคประสาทเสื่อมจากสุรา(Alcoholpolyneuropathy)
  19. โรคซึมเศร้า (Depression)
  20. โรคลมชัก (Epilepsy)
  21. โรคระแวงเพราะสุรา (Alcoholic paranoia)
  กลุ่มโรคมะเร็งอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่นในระบบทางเดินอาหารส่วนบน ทรวงอก ตับ
  1. มะเร็งในปากและช่องปาก(Oropharyngeal cancer)
  2. มะเร็งหลอดอาหาร (Oesophageal cancer)
  3. มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon and rectum cancer)
  4. มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer)
  5. มะเร็งตับ ( Liver cancer)
  6. มะเร็งเต้านมในผู้หญิง (Female breast cancer)
  7. มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
  กลุ่มโรคเรื้อรังอื่นๆ
  1. โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Pancreatitis / Acute )
  2. โรคเบาหวาน (เกิดจากตับอ่อนอักเสบ)
  3. โรคตับอักเสบ (Fatty liver Hepatitis)
  4. โรคตับแข็งจากสุรา (Alcohol liver cirrhosis )
  5. โรคตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง (Acute and chronic pancreatic)
  6. โรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคกระเพาะอักเสบจากสุรา(Alcohol gastritis)
  7. แผลในกระเพาะอาหารเกิดจากน้ำย่อย (Peptic ulcers)
  8. โรคต่อมหมวกไต (Pituitary)
  9. โรคเกาต์(Gout)
  10. โรคพิษสุราเรื้อรัง
  กลุ่มโรคหลอดเลือดและหัวใจ
  1. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมจากสุรา (Cardio myopathy)
  2. หัวใจทำงานบกพร่อง,โรคหัวใจ (Cardio vascular defects)
  3. ความดันโลหิตสูง (Hypertension with hyperlipidemia)
  4. โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (กามตายด้าน)( Impotent)
  5. สมองส่วนนอกลีบฝ่อ
  6. อาการระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน (Excess blood alcohol)
  7. โรคหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Cardiac arrhythmias)
  8. โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure)


สุราปัจจัยสำคัญที่ทำลายคุณภาพชีวิต

ข้อมูลจากการวิจัยต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า การดื่มสุรามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่น ปัญหาด้านอารมณ์ การปรับตัวเข้าสังคม ทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ปัญหาครอบครัว การเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

จากการศึกษาคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนเพื่อประมาณการจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับสารเสพติดและผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2550 ซึ่งทำการสอบถามทั้งชายและหญิงในกลุ่มอายุต่างๆ โดยใช้คำถามให้ตอบ 14 ข้อ เพื่อดูประสบการณ์ของผู้ที่เคยดื่มสุรา (ดังตารางที่ 2) พบว่า ทั้งเพศชายและเพศหญิงต่างก็เคยมีปัญหาชีวิตเพราะสาเหตุมาจากการดื่มสุรา ดังนี้

• ปัญหาที่เพศชายประสบมากที่สุดจากการดื่มสุรา คือ รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังการดื่ม ร้อยละ 19.2 รองลงมาคือ ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ร้อยละ 18.8 และมีผลเสียต่อการทำงาน การเรียนหรือโอกาสที่จะไม่ได้งานทำ ร้อยละ 15.5 โดยกลุ่มอายุที่ประสบปัญหาทั้ง 3 ดังกล่าวส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี

• ปัญหาที่เพศหญิงประสบมากที่สุดจากการดื่มสุรา คือ มีปัญหาทางสุขภาพร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา ร้อยละ 14.3 ปี รองลงมาคือ รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังการดื่มสุรา ร้อยละ 13.3 และประสบกับปัญหาการเงิน ร้อยละ 10.3 โดยกลุ่มคนที่ประสบปัญหา 2 ปัญหาแรกส่วนใหญ่คือ กลุ่มอายุ 25-44 ปี ส่วนกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านการเงินส่วนใหญ่ คือ กลุ่มอายุ 12-19 ปี


ตารางที่ 2 แสดงสัดส่วนเพศชายและหญิงที่ประสบปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มผู้ที่ดื่มฯ ใน 12 เดือนที่ผ่านมา จำแนกตามอายุ



ที่มา :การศึกษาคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนเพื่อประมาณการจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับสารเสพติดและผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2550

นอกจากนี้การดื่มสุรายังทำให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งก่อปัญหาทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง ดังเช่นผลจากการศึกษาของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มสุรา โดยคดีที่พบว่ามีการกระทำผิดร่วมกับการดื่มสุรามากที่สุดคือ การกระทำผิดฐานชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 55.9 รองลงมาคือ ฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ ร้อยละ 46.2 และฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธ วัตถุระเบิด ร้อยละ 41.4 เป็นต้น (ดังตารางที่ 3)


ตารางที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างฐานความผิดในเด็กและเยาวชน และการกระทำผิดระหว่างที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์



ที่มา :ผลการวิจัยเรื่อง ยุทธศาสตร์ลดการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนจากการดื่มแอลกอฮอล์ (ข้อมูลปี 2549) โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ด้วยเหตุที่สุราเป็นยาเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมายจึงทำให้พฤติกรรมการดื่มสุรากลายเป็นสิ่งสังคมให้การยอมรับ แต่หากเรายังนิ่งเฉยสุราจะนำพาเด็กและเยาวชนของชาติไปสู่พฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงที่จะก่อปัญหาให้กับสังคมมากขึ้นดังเช่นในทุกวันนี้



เรียบเรียงโดย :  สิริกร เค้าภูไทย สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ