หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันอังคาร ที่ 23 เดือนพฤจิกายน 2553 ]
มหันตภัย 3 โรคร้าย กำพร้ายา..พัฒนาเร็วกว่ามนุษย์


วันละ 2 หมื่นคน คือตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก 3 โรคร้าย “มาลาเรีย” “วัณโรค” และ “เอดส์” เมื่อเป็น 3 เชื้อร้ายที่คร่ามนุษย์สูงสุด ทำให้มีการระดมสมองและทรัพยากรมากมายเพื่อกำจัดมันให้สิ้นซาก แต่ดูเหมือนความหวังจะยังริบหรี่ !!

ศ.นพ.ดร.สมชาย จงวุฒิเวศย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ถึงรายงานการศึกษาและตรวจผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย 5,325 รายในประเทศไทย ซึ่งพบเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ใหม่ ชนิดที่ 5 ครั้งแรกในคนไทย คือ "พลาสโมเดียม โนวลิไซ" (Plasmodium knowlesi) ผู้ป่วยโรคมาลาเรียร้อยละ 0.6 จะพบการติดเชื้อมาลาเรียชนิดนี้แฝงอยู่ หรือพบทุก 1 รายใน 200 ราย ปกติเชื้อนี้จะพบในลิงแสมที่น่าสนใจ คือเชื้อมาลาเรียตัวนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อตัวเก่า ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่วินิจฉัยคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อนี้จึงแพร่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และในอนาคตอาจกลายพันธุ์เป็นเชื้อมาลาเรียดื้อยาด้วย


องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีผู้เคยติดเชื้อมาลาเรียแล้วไม่ต่ำกว่า 247 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 8.8 แสนคน นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วโลก 30-36 ล้านคน ส่วนวัณโรคนั้นในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 9.2 ล้านคน 1 ใน 10 เสียชีวิต ทำให้ “มาลาเรีย” “วัณโรค” และ “เอดส์” คือ 3 เชื้อร้ายที่แพร่ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วทุกพื้นที่ หลายคนอาจคิดว่ามนุษย์สามารถผลิตยารักษาโรคเหล่านี้ได้แล้ว แต่ความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ยังทำไม่ได้คือ เชื้อเหล่านี้แข็งแรง และปรับสภาพให้กลายพันธุ์ได้หลากหลายรูปแบบ จนบริษัทยายักษ์ใหญ่ต่างกุมขมับยอมยกธงขาว แล้วหันไปผลิตยารักษาโรคอื่นแทน

นพ.ไมเคิล เอลเลียต รองประธานผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น หรือ จีเอสเค ได้เชิญผู้สื่อข่าวจาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมฟังบรรยายในวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาการผลิตยาและวัคซีน เพื่อต่อสู้กับ 3 โรคร้ายข้างต้น รวมถึงโรคที่ถูกมองข้ามอื่นๆ (Neglected Tropical Diseases) เป็นผลให้ขาดยาที่ใช้รักษาอย่างได้ผล หรือที่เรียกกันในวงการแพทย์ว่า “โรคกำพร้ายา” นอกจาก 3 โรคร้ายข้างต้นแล้ว ยังมีโรคไข้เลือดออก อหิวาต์ เท้าช้าง ฯลฯ

นพ.ไมเคิลบรรยายว่า ทุกวันนี้ประชากรในกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนาตายเพราะ 3 โรคร้ายนี้วันละ 2 หมื่นคน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและไม่ได้รับยาที่จำเป็นและเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา เพราะบริษัทยาส่วนใหญ่ไม่ได้วิจัยพัฒนายาใหม่สำหรับโรคเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง สรุปคือ เชื้อร้ายพัฒนาตัวเองให้แข็งแรงขึ้น แต่ยามีประสิทธิภาพเท่าเดิม ดังนั้น การร่วมมือกันเพื่อเร่งผลิตยาตัวใหม่รวมถึงวัคซีนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขั้นตอนการคิดค้นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 12-15 ปี และใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะการผลิตยาหรือวัคซีนแต่ละชนิดต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทยาหลายแห่งเลิกล้มโครงการผลิตยากำพร้าเหล่านี้เพราะไม่ได้กำไรหรืออาจกำไรน้อย

“จีเอสเคพยายามจะผลิตทั้งยาและวัคซีนเพื่อรักษาโรคร้ายที่ถูกมองข้ามนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ยอมรับว่ายังไม่สำเร็จ เพราะเชื้อร้ายบางตัวปรับตัวเร็วมาก ยาบางตัวกว่าจะผ่านขั้นตอนวิจัยและทดลองได้ เชื้อตัวนั้นอาจกลายพันธุ์เปลี่ยนเป็นตัวอื่นไปแล้ว ต้องเริ่มต้นใหม่ ขณะนี้มีการตั้งโรงงานวิจัยและพัฒนายาเฉพาะโรคมาลาเรีย วัณโรค และเอดส์ ขึ้นที่เมืองเทรสแคนทอส ประเทศสเปน

ส่วนมาลาเรียนั้น มียารักษาแล้วแต่คนไข้บางรายมีเชื้อที่ดื้อต่อยารักษา ทำให้เชื้อไม่สามารถถูกกำจัดไปได้ ที่ผ่านมามีการศึกษาสารตั้งต้นมากกว่า 13,500 ชนิด บริษัทยาหลายแห่งกำลังทดลองวัคซีนมาลาเรียในแอฟริกา ถ้าโชคดีอาจได้ใช้กับคนไทย ส่วนโรควัณโรคนั้น ปกติคนไข้กินยาต่อเนื่อง 6 เดือนจึงจะหาย แต่ถ้าติดเชื้อวัณโรคที่กลายพันธุ์เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) หรือวัณโรคดื้อยาสุดๆ (XDR-TB) คนไข้คงต้องเสียชีวิตเพราะทั้งยาและวัคซีนตัวใหม่ยังอยู่ระหว่างการวิจัย ส่วนเอดส์นั้นมีการผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีหลายตัวจนสำเร็จ แต่ยังคงมีการวิจัยวัคซีนป้องกันและรักษาเอดส์ ซึ่งต้องทำวิจัยกันต่อไป” นพ.ไมเคิลสรุปการบรรยาย

วิธีต่อสู้ 3 โรคร้ายนี้ให้ได้ผลนั้น นพ.ไมเคิลแนะนำว่า ต้องเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก บริษัทยา และสถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันผู้อยู่วงการผลิตยา รู้ดีว่าบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่มีอยู่ 27 แห่งทั่วโลกนั้น เข็ดขยาดกับการผลิตยารักษาโรคคนจน เพราะถ้าใครคิดจะผลิตยาและวัคซีนรักษาเอดส์หรือวัณโรค ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการถูกประณาม เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ผลิตสำเร็จเป็นฮีโร่ แต่ตอนขายเป็นโจร” เช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี หากขายแพงมาก ก็จะถูกเดินขบวนต่อต้าน และพอผลิตขายได้ไม่กี่ปีก็มีคนลอกเลียนสูตรยาไปขายตัดหน้า สุดท้ายก็ต้องยกลิขสิทธิ์ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ด้วยเหตุผลหลายประการ บริษัทยาหลายแห่งจึงเลือกที่จะผลิตยารักษาคนรวยดีกว่า เช่น ยารักษามะเร็ง หรือยารักษาโรคที่ฝรั่งชอบเป็น เช่น ยาเบาหวาน โรคอ้วน ฯลฯ บริษัทยาบางแห่งอาจเลือกเปลี่ยนแปลงนโยบายการขาย เช่น บริษัทจีเอสเค มีโครงการกำหนดราคายาให้สอดคล้องกับรายได้ของแต่ละประเทศ แม้เป็นยาตัวเดียวกันแต่ขายให้แอฟริกาถูกกว่ายุโรปอย่างน้อย 50% เมื่อยาขายได้มากขึ้น ต้นทุนการผลิตก็ลดลง ในอนาคตคงต้องรอดูว่ากลยุทธ์แบบนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากทำได้จริงอาจเป็นแรงจูงใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่หันมาสนใจ "โรคกำพร้ายา" มากกว่านี้




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล