ผู้จัดการออนไลน์ [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ]
เทคนิคป้องกันโรคกระดูกพรุน "เลือก"และ"เลี่ยง"อาหารอย่างถูกวิธี


กระดูกของคนเรามีการเจริญเติบโตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุประมาณ 25 - 30 ปี จากนั้นจะเป็นการเสริมความแข็งแรงของกระดูกด้วยการสะสมมวลกระดูก จนถึงระยะมวลกระดูกสูงสุด เมื่ออายุ 35 ปี หลังจากนั้น มวลกระดูกจะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุ หากละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลโครงสร้างร่างกาย อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาโรคกระดูกพรุน

ข้อมูลจาก มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์โรคกระดูกพรุนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ในพ.ศ.2593 มีแนวโน้มจํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยสถานการณ์กําลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ป่วย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึง 3 แสนบาท ต่อคนต่อปี


คุณจีระภา คล้ายเพ็ชร นักโภชนาการ ประจำไคโรเมด สหคลินิก อธิบายว่า "การรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้มีความแข็งแรง มีความสำคัญในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนในอนาคตได้ และถึงแม้ว่าบางคนจะมีอายุที่เกินระยะมวลกระดูกสูงสุดไปแล้ว การรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูก จะเป็นการช่วยรักษาไม่ให้มวลกระดูกที่มีอยู่เสื่อมถอยลงไปจนเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ดังนั้นเราจึงควรปรับพฤติกรรมการทานอาหารต่างๆที่มีผลต่อการเจริญของกระดูกตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดปัญหาของการเกิดภาวะ กระดูกพรุนหรือกระดูกเปราะบางในอนาคต"

นอกจากนี้ คุณจีระภา ยังเผยถึงเทคนิคการ "เลือก" และ "เลี่ยง" บริโภคอาหารเพื่อเสริมสร้างมวลกระดูกมาฝากกัน

"เลือก" อาหาร เสริมสร้างมวลกระดูก

-รับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เนื่องจากแคลเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกและป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก อาทิ กลุ่มอาหารจำพวกผักใบเขียว กลุ่มนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม นมถั่วเหลือง และเต้าหู้ กลุ่มอาหารจำพวกถั่วและงา

- รับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสให้พอดี เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่มักจะทำงานร่วมกับ แคลเชียม ในการสร้างและเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก แหล่งอาหาร ที่ให้ฟอสฟอรัส เช่น นม เนื้อ ปลา เป็ด ไก่ ไข่ เนยแข็ง ตับ ข้าวกล้อง ถั่ว ยีสต์ เป็นต้น

- รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมให้เพียงพอ แมกนีเซียม จะช่วยในการสร้างวิตามินดี ในรูปแบบที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้กระดูกและฟันมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น จึงช่วยทำให้ขยายระยะเวลาในการ เสื่อมของกระดูกให้ยืดนานออกไป แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ถั่วต่างๆ ธัญพืช แป้ง และอาหารทะเล

- รับประทานอาหารที่มีวิตามินดี เนื่องจากวิตามินดี ทำให้การดูดซึมของแคลเซียมเป็นไปโดยปกติและช่วยในการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น แหล่งอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา เนื้อปลาที่มีไขมัน ตับ และไข่แดง เป็นต้น

"เลี่ยง" อาหาร ลดมวลกระดูก

- เลี่ยงรับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก เนื่องจากการเผาผลาญจากสารอาหารโปรตีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

-เลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด เนื่องจากมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้นและขับแคลเซียมตามออกมาด้วย

-เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น น้ำชา กาแฟ เนื่องจากมีส่วนประกอบของคาเฟอีน จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

- เลี่ยงหรือลดการดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูง โดยฟอสฟอรัสจะรวมตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเสียสมดุล ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ตามปกติ จึงทำให้แคลเซียมในร่างกายลดลงได้

- หลีกเลี่ยงหรืองดการดื่มสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

- หลีกเลี่ยงหรืองดสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตีนในบุหรี่ขัดขวางการนำแคลเซียมไปใช้ ทำให้ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ได้ลดลง

- หลีกเลี่ยงหรืองดบริโภคยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหารที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยาบางประเภท เช่น ยาสเตรียรอยด์ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาป้องกันอาการชัก ฮอร์โมนธัยรอยด์ เฮพาริน มีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง และทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงในที่สุด

เทคนิคง่ายๆ ของการ "เลือก" และ "เลี่ยง" รับประทานอาหาร เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก ให้แข็งแรง ใส่ใจในการเลือกรับประทานสักนิดเพื่อเตรียมสร้างเกราะป้องกันไว้ ก่อนที่ภาวะกระดูกพรุน จะถามหาก่อนถึงวัยอันควร




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล