ผู้จัดการออนไลน์ [ วันพุธ ที่ 07 เดือนตุลาคม 2553 ]
4 โรคประจำตัวเรื้อรัง แผลงฤทธิ์หนัก ป่วยทางจิตทั่วโลกเพิ่ม 25-33%


องค์การอนามัยโลก เผย 4 โรคประจำตัวเรื้อรัง คือ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง โรคถุงลมปอดโป่งพอง กำลังขยายความรุนแรงขึ้น ก่อความเสี่ยงป่วยทางจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-33 ทำให้อาการป่วยทรุดลง รักษายากขึ้น ด้านกระทรวงสาธารณสุขไทยเร่งป้องกันปัญหา ออกนโยบายตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตให้ผู้ป่วย 6 โรคเรื้อรังรวมญาติด้วยประมาณ 6 ล้านคน ในปี 2554 หวังผลให้การรักษาได้ผลขึ้น

วันนี้ (10 ต.ค.) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สหพันธ์สุขภาพจิตโลก ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยในปีนี้ได้กำหนดการรณรงค์ว่า สุขภาพจะดีไม่ได้ ถ้าสุขภาพจิตไม่ดี (No health without mental health) ประเด็นรณรงค์ในปีนี้มุ่งเน้นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง ที่สำคัญ 4 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และโรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตคนทั่วโลกร้อยละ 60 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยากจน หากยังไม่มีการช่วยเหลือต่อไปคาดว่าประชากรประมาณ 388 ล้านคนจะเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควรภายใน 10 ปี ข้างหน้า จำเป็นต้องรักษาอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ผลจากการศึกษาวิจัย กลุ่มที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังดังกล่าวและญาติใกล้ชิดจะมีปัญหาสุขภาพจิตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคทางกายที่มีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วยจะทำให้โอกาสการฟื้นตัว บรรเทาจากโรคเป็นไปได้ยากขึ้น โดยในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า พบในเพศหญิงร้อยละ 10-25 ส่วนเพศชายพบได้ร้อยละ 5-12 แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 25-33 ผลที่ตามมาก็คือ จะทำให้อาการผู้ป่วยทรุดลง รักษายากขึ้น เป็นวัฏจักรหมุนเวียนไม่สิ้นสุด

ดร.พรรณสิริกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังของไทย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดคลินิกดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ และมีการบูรณาการระบบการให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลแก่ญาติด้วย โดยในปีงบประมาณ 2554 นี้ ได้มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิตจัดระบบการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย 6 โรคเรื้อรังที่กำลังเป็นปัญหาอันดับ 1 ของประเทศไทย ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดอัมพาต พิการ โรคถุงลมปอดโป่งพอง และโรคมะเร็งทุกชนิด มีผู้ป่วยสะสมล่าสุดในปี 2552 ทั่วประเทศจำนวนเกือบ 3 ล้านคน รวมทั้งญาติที่ต้องดูแลอีกประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งจะสามารถวางแผนแก้ไขและป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม เชื่อว่าหากสภาพจิตใจของผู้ป่วยดี อาการก็จะไม่ทรุดลงง่าย ทำให้การรักษาของแพทย์ได้ผลขึ้น ทิศทางดังกล่าวเป็นการบูรณาการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมพร้อมกันทั้งกายและใจ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ทางด้าน นพ.อภิชัย มงคล ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า 450 ล้านคน และต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากหลายสาเหตุ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ และเป็นสื่อกลางให้ผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกทั้งรัฐบาลและองค์กรด้านสาธารณสุขในประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสนใจและแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ มีหลายรูปแบบ ประเทศที่ประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตมากนั้น นอกจากจะดูจากสถิติการป่วยทางจิตแล้ว อาจดูได้จากสถิติอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การหย่าร้างสูง การฆ่าตัวตายสูง อาชญากรรมสูง ติดสุราหรือยาเสพติดสูง ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตจึงมีผลกระทบต่อสังคมมาก เพราะเมื่อสุขภาพจิตเสื่อม สุขภาพทางกายก็จะทรุดโทรมไปด้วย และยังเป็นภาระครอบครัวที่ต้องคอยดูแล

นพ.อภิชัยกล่าวต่ออีกว่า ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนไทย กรมสุขภาพจิตได้ให้หน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต 18 แห่งทั่วประเทศ เปิดสายด่วน 1323 ให้คำปรึกษาประชาชนทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง ผลการดำเนินงานในปี 2553 มีผู้ปรึกษาทั้งหมด 31,801 ราย เป็นกลุ่มอายุ 25-59 ปีมากที่สุดจำนวน 23,487 ราย รองลงมาคือกลุ่มอายุ 1-24 ปี จำนวน 8,242 ราย โดยปรึกษาด้านสุขภาพจิตทั่วไป เช่น ความเครียด 7,417 ราย โรคทางจิตเวช 6,530 ราย ปัญหาครอบครัว 3,608 ราย ความรัก 3,223 ราย และปัญหาทางเพศ 2,657 ราย ในจำนวนผู้ที่โทร.เข้ามาปรึกษาทั้งหมดพบต้องการความช่วยเหลือจำนวน 20,932 ราย คิดเป็นร้อยละ 66

สำหรับผู้ป่วยทางสุขภาพจิต ในปี 2552 จาก 7 โรคที่เข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีเกือบ 1 ล้าน 3 แสนราย อยู่ใน กทม.2 แสนกว่าราย ที่เหลืออยู่ต่างจังหวัด โรคที่คนไทยป่วยมากที่สุด ได้แก่ โรคจิต จำนวน 421,375 ราย รองลงมาคือ โรควิตกกังวล 381,182 ราย โรคซึมเศร้า 216,780 ราย ปัญญาอ่อน 36,801 ราย โรคลมชัก 148,462 ราย โรคจากการติดสารเสพติด 138,127 ราย ฆ่าตัวตาย 28,119 ราย




 










 


หน้าแรก | เกี่ยวกับแผนงาน | เครือข่ายและกิจกรรม | ผลผลิตและรายงาน | ข้อมูลสถิติ | การจัดการความรู้ | หน่วยงาน | ติดต่อแผนงาน | เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ
แนะนำแผนงาน | ข่าวกิจกรรม | เกาะติดกิจกรรมเด่น | หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง | ผลผลิตและรายงาน| รายงานสุขภาพ| ก้าวใหม่กับ HISO | สถานการณ์สุขภาพประเทศไทย
การวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ | สถานการณ์ข่าวสุขภาพ | เรื่องเล่าข่าวสุขภาพ | สื่อข้อมูลสุขภาพ | แบบสำรวจสุขภาพ | webbord | คำถามที่พบบ่อย | สมุดเยี่ยมชม | บริการข้อมูล